นักวิชาการนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลกยัน กฎหมายควบคุมของไทยไม่สุดโต่ง ชงปรับปรุงระบบในอนุญาตแยกร้านค้าปลีกกับร้านนั่งดื่ม มองนโยบายสุราก้าวหน้าลดข้อจำกัดในการผลิต ต้องรักษามาตรฐานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์และเกิดประโยชน์กับเกษตรกรได้จริง ชี้วิธีช่วยลดการบริโภคและผลกระทบจากการดื่มจำเป็นต้องใช้ มาตรการทางภาษี การจำกัดการโฆษณา และการควบคุมการเข้าถึงควบคู่กันไปด้วย
ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ นำคณะทำงานลดปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทย ประกอบด้วย ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮออล์ เข้าพบนักวิชาการด้านนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยในกระแสเสรีประชาธิปไตย ในโอกาสที่เดินทางมาประเทศไทยเพื่อจัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการ Inter-country learning for implementing high-impact interventions on addressing alcohol-related harms ให้ประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียใต้ตะวันออกระหว่างวันที่ 22 – 25 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา
ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่าสาระสำคัญหลักจากการประชุมแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ ได้แก่ 1) ประเทศไทยถือว่ามีความสำเร็จในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งสะท้อนจากปริมาณการบริโภคในรอบทศวรรษที่ผ่านมาที่ค่อนข้างคงที่และมีแนวโน้มลดลงในช่วงหลัง ทั้งที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น GDP ของประเทศสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับปริมาณบริโภคของหลายประเทศในภูมิกาคเอเชียที่ไม่มีนโยบายแอลกอฮอล์จะพบว่ามีการบริโภคแอลกอฮอล์มีแนวโน้มสูงขึ้น 2) การพิจารณาการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อลดผลกระทบจากแอลกอฮอล์อาจแบ่งเป็นสามช่วงหลักตามห่วงโซ่การผลิตจนถึงหลังการบริโภค ได้แก่ การกำกับในการผลิต การกำกับในการขายหรือกระจายสินค้าซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการขายและการโฆษณา และการกำกับพฤติกรรมหลังการดื่มของนักดื่ม รัฐควรต้องพัฒนานโยบายให้ครอบคลุมในทุกขั้นตอนเพื่อลดผลกระทบผ่านกลไกต่าง ๆ
ดร.ภญ.อรทัยกล่าวอีกว่า 3) ผู้ประกอบการทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่ายและผู้บริการแอลกอฮอล์ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ควรมีบทบาทในการลดผลกระทบของการดื่มแอลกอฮอล์ด้วย ได้แก่ มาตรฐานและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การเสียภาษี การจำกัดการส่งเสริมการขายต่อกลุ่มประชากรเปราะบางต่อการเกิดปัญหาจากการบริโภค ในที่นี้ เช่น กลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้หญิง กลุ่มนักดื่มที่ดื่มหนักและติดสุรา เป็นต้น 4) จุดอ่อนที่สำคัญของประเทศไทยในการจัดการปัญหาคือการควบคุมคุมการเข้าถึงทางกายภาพ ควรต้อง”ทบทวนระบบใบอนุญาตขายและบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” แบ่งประเภทใบอนุญาตตามสถานที่ที่มีที่นั่งดื่ม (on premise) และสถานที่ไม่มีที่นั่งดื่ม (off premise) ซึ่งสองประเภทเกี่ยวข้องกับการผลกระทบของการดื่มแตกต่างกัน กระบวนการออกใบอนุญาต คุณสมบัติผู้ประกอบการ ค่าธรรมเนียมและการต่ออายุในอนุญาตแต่ละควรออกแบบให้สะท้อนมิติการจำกัดการเข้าถึงของผู้บริโภคและความรับผิดชอบของผู้ประกอบการต่อปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจากการดื่มด้วย และ5) ประเทศไทยควรยกระดับมาตรการภาษีสุราและการควบคุมกิจกรรมการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และควรพิจารณาสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติเพื่อจัดการปัญหาที่เป็นประเด็นข้ามพรมแดน เช่น การโฆษณาทางสื่อ ดิจิตัล การค้าและลงทุนระหว่างประเทศ
ด้านศาสตราจารย์ แซลลี่ แคสเวล ประธานของ Global Alcohol Policy Alliance (GAPA) ได้ให้ข้อมูลว่า จากการศึกษา “ดัชนีความเข้มงวดของนโยบายแอลกอฮอล์ (Stringency index)” ใน 10 ประเทศทั่วโลกทั้งประเทศรายได้สูง ปานกลาง และต่ำโครงการวิจัย International Alcohol Control Policy Evaluation Study ประเทศไทยมีระดับความเข้มงวดของนโยบายแอลกอฮอล์โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง มาตรการหลายอย่างเป็นการควบคุมเพียงบางส่วน โดยมีอีกหลายมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยที่สามารถปรับปรุงและยกระดับความเข้มงวดได้เพื่อให้ลดปัญหาผลกระทบได้มากขึ้น เช่น ระบบใบอนุญาตขายแอลกอฮอล์ในต่างประเทศมีการแบ่งใบอนุญาตจำหน่ายของร้านค้าปลีก ออกจากใบอนุญาตของร้านที่มีที่นั่งดื่มเนื่องจากมีระดับความเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบแตกต่างกัน
เมื่อถามถึงข้อเสนอนโยบายสุราก้าวหน้า ซึ่งเป็นการปลดล็อกข้อจำกัดในการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ศาสตราจารย์แซลลี่ ให้ความเห็นว่า “หากมีการลดข้อจำกัดในการผลิต โดยที่ยังสามารถรักษามาตรฐานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์และเกิดประโยชน์กับกลุ่มเกษตรกรนั้นก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่วิธีที่จะช่วยให้การบริโภคและผลกระทบจากการดื่มไม่เพิ่มขึ้นนั้นจำเป็นต้องมีการควบคุมโดยใช้ มาตรการทางภาษี ซึ่งอาจจำเป็นต้องขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิต การจำกัดการโฆษณา และการควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควบคู่กันไปด้วยจึงจะช่วยควบคุมไม่ให้ผลกระทบจากการดื่มเพิ่มขึ้นได้ และที่สำคัญปัญหาแอลกอฮอล์อย่ามองแค่เรื่องเมาแล้วขับอย่างเดียว เพราะกระทบทั้งมิติสุขภาพ สังคม ครอบครัว ความรุนแรงรวมถึงอาชญากรรมด้วย” ศาตราจารย์ แซลลี่ กล่าว
No comments:
Post a Comment