การเริ่มต้นบริหารงานของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย นับเป็นความหวังของคนทั้งประเทศ ตลอดระยะเวลา 8-9 ปึที่ผ่านมา โดยเฉพาะนโยบายที่จะดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจ
อันได้แก่ 1. นโยบายการแก้ปัญหาหนี้สินในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน 2.นโยบายการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน 3. การสร้างรายได้จากการท่องที่ยว และ 4. การแก้ปัญหาความเห็นต่างในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และนโยบายที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล และในอนาคตอันใกล้ จะมีนโยบายอื่น ๆ ตามมา แบบเรียกว่า ทยอยทำ ซึ่งนายกเศรษฐาออกมายอมรับตรง ๆ ว่าเป็นมือใหม่หัดขับ
ในขณะที่แวดวงแนวร่วมต่อต้านการทุจริต ตระหนักดีว่า การทุจริตคอร์รัปชันสร้างปัญหาให้กับประเทศ ยิ่งรัฐบาลมีนวัตกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบาลสาธารณะใหม่ ๆ ไม่ว่าจะจำนำ จ่าย แจก แลก โดยหว่านงบประมาณไป ก็ต้องระวังให้ดีอย่างยิ่งที่จะไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยหับคำว่าทุจริตเขิงนโยบาย ดังนั้นหลายฝ่ายจึงเรียกร้อง ให้รัฐบาลท่านนายกเศรษฐา ดำเนินการเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง ทำให้ในงานวันต่อต้านคอร์รัปชันที่พึ่งผ่านมาเมื่อวันที่ 6 กันยายน จึงมีเสียงเรียกร้องให้ รัฐบาล ผลักดันการดำเนินการ 5 ประเด็น ได้แก่
กำหนดให้การปราบปรามคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการที่มีตัวแทนทุกภาคส่วนมีนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน พร้อมมีวอร์รูม เพื่อการทำงานอย่างทันเหตุการณ์
สนับสนุนให้ ป.ป.ช. สตง. และ ป.ป.ท. ทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ เป็นกลาง มีเอกภาพแยกออกจากรัฐบาล
เร่งรัดการออกกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันที่ค้างคาอยู่ เช่น กฎหมายข้อมูลสาธารณะในความครอบครองของรัฐ กฎหมายปกป้องผู้เปิดโปงคอร์รัปชัน หรือกฎหมายป้องกันการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น
ทุกหน่วยงานต้องพร้อมเปิดเผยข้อมูล นับจาก TOR ไปจนถึงสัญญาต่าง ๆ ในรูปแบบที่สามารถ เชื่อมโยงกับ ACT Ai ตามมาตรฐานสากลได้อย่างโปร่งใสและถูกต้อง
แก้ไขกฎระเบียบราชการต่าง ๆ ที่ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลปัญหาคอร์รัปชัน และเมื่อพบกรณีทุจริตคอร์รัปชัน ให้ ติดตามแก้ไขลงโทษในทันที อย่าประวิงเวลา จนประชาชนลืม
ท่านนายกเศรษฐา ทวีสิน ได้กล่าวถ้อยแถลงในงานดังกล่าวว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับดัชนีความโปร่งใสหรือ CPI โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เป็นอันดับ 101 ของโลก เป็นอันดับ 4 ของอาเซียน ต่ำกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม หมายความว่าเรามีเรื่องต้องพัฒนาอีกมากมาย เพราะ 3-4 ประเทศที่กล่าวไปเป็นคู่แข่งด้านการค้าของเรา เราจำเป็นต้องถีบตัวให้ขีดการแข่งขันสูงขึ้นมาอีก
ปัญหาทุจริตนอกจากจะทำให้เกิดความเสียหายโดยตรงกับภาครัฐ ยังทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุน เป็นปัญหาหลักที่เศรษฐกิจไทยถดถอย และมีผลต่อเนื่องไปสู่การขับเคลื่อน GDP ของประเทศอีกด้วย เพื่อขจัดปัญหาทุจริต รัฐบาลของประชาชน ที่มีนายกเศรษฐาเป็นหัวเรือใหญ่ มีนโยบายด้านใช้หลักยุติธรรม หรือ Rule of Law ที่เข้มแข็ง เอาเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อช่วยให้เกิดความโปร่งใส และตรวจสอบได้ในกระบวนการต่าง ๆ ทำให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล ช่วยประชาชนทั้งความโปร่งใส และการบริการภาครัฐที่รวดเร็วยิ่งขึ้น
นโยบายที่จะนำมาใช้ในอนาคต เช่น
ใช้ระบบการจ่ายเงินภาครัฐผ่านอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เงินสด
เปิดให้ขอใบอนุญาตผ่านอิเล็กทรอนิกส์ทำให้ขอได้ง่ายและจบในที่เดียว (1 stop service)
ปรับปรุงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้ง่ายและโปร่งใส และป้องกันการทุจริต เปิดข้อมูลให้ตรวจสอบได้ตามแนวทาง open government
ปรับเปลี่ยนการบริหารประเทศของรัฐบาลให้เป็น digital government ปรับใช้เทคโนโลยีสำหรับการอนุมัติ อนุญาต ควบคุมตรวจสอบ ให้มีความโปร่งใส ลดการใช้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่รัฐที่ติดต่อกับประชาชน
การประกาศ ขจัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจังของนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องที่ดี แม้จะรับประกันไม่ได้ว่า ปัญหาการรับสินบน การคอร์รัปชันจะไม่เกิดขึ้นในรัฐบาล และมีการปราบให้ปัญหาเหล่านี้น้อยลงจากเดิม แต่ก็ช่วยสร้างความฝัน ที่อาจกลายเป็นจริงได้ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องการปราบปรามคอร์รัปชัน
การที่หลายคนกัวงลกับเรื่องปราบปรามคอร์รัปชัน เนื่องจาก หากนับย้อนหลังกลับไป 10 ปีที่ผ่านมา งบประมาณขององค์กรที่ทำหน้าที่ปราบปรามการทุจริตเป็นส่วนที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุด แต่การทุจริตกลับไม่ได้ลดลง ตัวอย่างงบสำหรับต่อต้านการทุจริต ในปีงบประมาณ 2566 ของหน่วยงานต่อต้านทุจริต 40 หน่วยงาน มีมูลค่าถึง 3,803 ล้านบาท เติบโตจากปีงบประมาณ 2565 ประมาณ 15%
หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณสูงสุด 5 อันดับแรก คือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งรับผิดชอบจัดการกับการทุจริตของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง คิดเป็น 2,845 ล้านบาท (74%) รองลงมาคือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ซึ่งรับผิดชอบจัดการกับการทุจริตของข้าราชการระดับกลาง-ต้น คิดเป็น 512 ล้านบาท (13%) งบประมาณอันดับ 3 คือ กองทุน ป.ป.ช. งบประมาณ 150 ล้านบาท สำนักงานอัยการสูงสุด 74 ล้านบาท และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 67 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าการจัดสรรงบประมาณที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับการปราบปรามทุจริตขนาดใหญ่ แทน ‘การคอร์รัปชันเล็ก ๆ’ ที่เป็นปัญหาที่แพร่หลายและเร่งด่วน
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ก่อนหน้านี้มีคำถามว่า คณะรัฐมนตรีของนายกเศรษฐาเอาจริงแค่ไหน จะมีแนวทางปราบคอร์รัปชันให้อยู่หมัดอย่างไร จนเป็นเรื่องน่ากังวลของประชาชน ผู้ซึ่งเป็นผู้ต้องรับผิดชอบ ผ่านการจ่ายภาษี ดังจะเห็นได้จากกรณี
คุณสุทธิชัย หยุ่น เคยวิจารณ์ ว่า เมื่อไม่มีนโยบายคอร์รัปชัน ทั้งการป้องกันและการปราบปราม รวมทั้งไม่เห็นนายกรัฐมนตรีดำเนินการเรื่องนี้ อีกทั้งคุณเศรษฐา ก็ไม่เคยอยู่ในแวดวงข้าราชการ ดังนั้นคุณเศรษฐาอาจจะไม่สามารถรู้เท่าทันกลเม็ดเด็ดพรายของข้าราชการที่จะคอร์รัปชันได้อย่างไร นอกจากนี้การที่คุณเศรษฐาต้องพึ่งพาพรรคการเมือง อีก 10 พรรค รวมทั้งในพรรคเพื่อไทยเอง ในการอยู่รอดของรัฐบาลผสม ที่ต้องเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มผู้สนับสนุน คุณเศรษฐาจะมีความแข็งแกร่งแค่ไหนที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศของประชาชน
นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่า "ควรมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วม เพื่อการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน หรือจะเรียกว่า War Room for Anti Corruption เพราะวิกฤตนี้เป็นวิกฤตขนาดใหญ่ ซึ่งกระทบกับประชาชนคนไทยทุก ๆ คน มีผลกระทบกับทุกภาคส่วนสร้างความเสียหายทั้งทางด้านสังคมและทางด้านเศรษฐกิจ จึงต้องยกระดับในการที่จะแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งภาครัฐควรมีความจริงจัง มีนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาทุจริต”
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ให้มุมมองว่า ถึงแม้การเลือกตั้งจะจบแล้ว หน้าที่ของประชาชนในการต่อต้านคอร์รัปชัน และการจับตาดูการทำหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ยังไม่จบ หวังว่านายกรัฐมนตรีจะทำหน้าที่ดูแลเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในประเทศอย่างเต็มที่
ปัจจุบันคนไทยจำนวนมากมีความตื่นตัวในการร่วมมือกันป้องกันและปราบปรามปัญหาคอร์รัปชัน ทั้งการรณรงค์ให้เข้าใจ และร่วมมือต่อต้านทุจริต ดังนั้นจากคำพูดของ ท่านนายกรัฐมนตรี ที่ว่า ‘จะส่งเสริมการบริหารราชการด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส มีธรรมาภิบาล ยึดมั่นอุดมการณ์’ เป็นเหมือนสัญญากับประชาชน ว่าเราจะมั่นใจกับรัฐบาลนี้ได้ในเรื่องการจัดการปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งพวกเราทุกคนต้องเฝ้าจับตามองว่าจะเป็นฝันที่เป็นจริง หรือเป็นความฝันลม ๆ แล้ง ๆ
No comments:
Post a Comment