เครือข่ายประชาชน ยื่นหนังสือ จี้นายกฯ หยุดแนวคิดขยายเวลาเปิดผับ บาร์ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว เพิ่มความเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน ชี้ข้อมูล ยังไม่ครบปี ต่างชาติเสียชีวิตในไทยแล้วเกือบ 500 คน แถมงานวิจัยชัด ไทยรั้งอันดับ 12 ประเทศเสี่ยงอันตรายสำหรับนักท่องเที่ยว แนะคิดใหม่ ชูอัตลักษณ์ไทยเป็นจุดขาย ดึงนักท่องเที่ยว
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 66 ที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล นางสาวเครือมาศ ศรีจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต นายเจษฎา แย้มสบาย ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง เข้ายื่นหนังสือถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อคัดค้านนโยบายขยายเวลาเปิดสถานบริการ ผับ บาร์ เพื่อหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว นำรายได้เข้าประเทศ ทั้งนี้ นายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มารับหนังสือแทน
นางสาวเครือมาศ กล่าวว่า การที่นายกฯ มีดำริขยายเวลาการเปิดผับออกไปอีก เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องที่ยว แล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ขานรับและเตรียมดำเนินการให้เป็นรูปธรรม ซึ่งจะเห็นว่านโยบายนี้มีมาทุกรัฐบาล แถมยังสอดคล้องกับข้อเสนอของกลุ่มผู้ผลิต นำเข้าและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเจ้าของสถานบันเทิง เรารู้สึกเศร้าใจที่ฝ่ายการเมืองมีความคิดแต่ส่งเสริมอบายมุข เพิ่มพื้นที่เสี่ยง แทนที่จะมีมาตรการที่จะลดปัญหาหรือปกป้องคุ้มครองสุขภาพของประชาชนให้มากขึ้น
เครือข่ายฯ ยอมรับว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่ควรย่ำอยู่บนความเสียหายทางสุขภาพของประชาชน ซึ่งมีราคาที่ต้องจ่ายมาก เรียกว่าได้ไม่คุ้มเสีย ซ้ำยังเพิ่มความเสี่ยงอันตรายให้นักท่องเที่ยวด้วย โดยข้อมูลจาก The Swiftest ทีมวิจัยด้านประกันภัยการท่องเที่ยวได้จัดทำดัชนีชี้ระดับความอันตรายต่อชีวิตของนักท่องเที่ยว ใน 50 ประเทศนิยมท่องเที่ยวทั่วโลก ในปี 2565 พบว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงอันตรายต่อนักท่องเที่ยวอยู่ในอันดับ 12 ของโลก ซึ่งปัญหาใหญ่สุดคือความปลอดภัยทางถนน ขณะที่ ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน ก็เปิดเผยข้อมูลปี 2566 จนถึงเดือน 10 ตุลาคม มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 10,916 ราย เป็นชาวต่างชาติ 443 ราย บาดเจ็บ 617,220 ราย เป็นชาวต่างชาติ 16,888 ราย โดยสาเหตุมาจากดื่มแล้วขับร้อยละ 25-30 ซึ่งเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้
“ดังนั้นจึงไม่ควรภูมิใจกับการสร้างจุดขายการท่องเที่ยวในประเทศด้วยการขยายเวลาเมา เพราะหากไปดูผลสำรวจนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 63 ก่อนโควิด-19ระบาด ของกระทวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะพบว่า จุดขายหลักของไทย คือ สถานที่ทางประวัติศาสตร์ โบราณสถานโบราณวัตถุ ศาสนสถาน แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ทะเล ชายหาด ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิต ส่วนสถานบันเทิง สถานท่องเที่ยวยามค่ำคืนนั้นอยู่ในลำดับท้ายตารางที่นักท่องเที่ยวสนใจ ส่วนความพึงพอใจในอาหาร สถานที่กินดื่มก็เป็นภัตตาคารร้านค้าต่าง ๆ ร้อยละ 85 นั่นหมายความว่านักท่องเที่ยวพึงพอใจมากอยู่แล้ว การอ้างขยายเวลากินดื่ม กระตุ้นหรือดึงดูดนักท่องเที่ยวจึงสวนทางกับข้อเท็จจริงนี้อย่างสิ้นเชิง”นางสาวเครือมาศ กล่าว
ด้าน นายเจษฎา กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าว ทางเครือข่ายฯ จึงมีจุดยืนและข้อเสนอดังนี้ 1.คัดค้านการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิง เพราะเพิ่มความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุเ เพิ่มภาระทางการแพทย์ 2.ประเทศไทยมีจุดขายอื่นที่มีคุณค่ามากกว่าการเมา แต่ควรส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ไม่ใช่ร้านเหล้าผับ บาร์ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนในพื้นที่ที่ประกอบอาชีพอื่นด้วย 3.ในงานวิจัยของกระทรวงท่องเที่ยวเอง พบว่าการขยายเวลากินดื่มไม่ได้เป็นแรงจูงใจสำคัญให้นักท่องเที่ยวเข้ามา เป็นแค่การเพิ่มผลประโยชน์ของคนในธุรกิจนี้ แต่เพิ่มความเสี่ยงให้คนส่วนใหญ่ของสังคมต้องแบกรับ 4.ขอให้รัฐบาลควรมุ่งให้ความสำคัญกับการสร้างความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างมีคุณค่า ที่ทำให้ชุมชนคนในพื้นที่ได้ประโยชน์ และ 5. ขอให้นำคำสั่ง คสช. 22/2558 มาบังคับใช้ เพื่อควบคุมสถานประกอบการมิให้ทำผิดกฎหมาย เช่น ปล่อยเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าไปใช้บริการ มียาเสพติด การพนัน ค้ามนุษย์ เปิดเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น
No comments:
Post a Comment