วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 นายสุนทร คำศรีเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 5 พร้อมคณะเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน และคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามก้าวหน้าโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย เพื่อบรรเทาอุทกภัยและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในเขตพื้นที่ จ.หนองคาย และ จ.อุดรธานี
สำหรับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 มีแผนงานโครงการ 9 ปี (พ.ศ.2561-2569) มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนในการอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร รวมถึงบรรเทาอุทกภัย ในเขตจ.หนองคาย และอุดรธานี พร้อมเตรียมผลักดันให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ สร้างรายให้แก่ชุมชนใกล้เคียง
นายสุนทร คำศรีเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 5 เผยว่า การพัฒนาโครงการลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง หรือพื้นที่ลุ่มน้ำของภาคอีสานตอนบน มีพื้นที่สามารถรองรับน้ำได้ 2,260 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ จ.อุดรธานี และ จ.หนองคาย ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะภาคการเกษตร เนื่องจากสภาพภูมิประเทศไม่เหมาะที่จะสร้างแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ไว้ใช้ในฤดูแล้ง ในขณะที่ปริมาณฝนที่ตกในแต่ละปีมีอัตราเฉลี่ยที่สูง เมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ ของประเทศ จึงมักเกิดปัญหาน้ำหลากเป็นประจำทุกปี เฉลี่ยแล้วในแต่ละปีจะมีพื้นที่น้ำท่วมประมาณ 90,000 ไร่ ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เรือกสวนไร่นาได้รับความเสียหาย การทำนาปีจึงเปลี่ยนมาทำนาปรังหลังน้ำลดแทน ดังนั้น โครงการนี้จะมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาระบบการเกษตร และน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาความเสียหายจากภัยธรรมชาติ
โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง มี 7 โครงการสำคัญที่จะเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบไปด้วย
1) งานสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง
2) ปรับปรุงพนังกั้นน้ำเดิมฝั่งขวาตามแนวลำห้วยหลวงและอาคารบังคับน้ำตามลำน้ำสาขา
3) พนังกั้นน้ำใหม่และอาคารบังคับน้ำตามลำน้ำสาขา
4) อาคารบังคับน้ำตามลำน้ำห้วยหลวง
5) โครงข่ายระบบชลประทาน จำนวน 13 โครงข่าย
6) แก้มลิงและอาคารประกอบ จำนวน 20 แห่ง
7) งานระบบควบคุมอุทกภัยอัจฉริยะ (Smart Flood Control System)
สำหรับงานก่อสร้างสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง ถือเป็น 1 ในแผนงานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำ ห้วยหลวงตอนล่าง เป็นการก่อสร้างสถานีสูบน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 15 ลบ.ม./วินาที จำนวน 10 เครื่อง อัตราการสูบน้ำสูงสุด 150 ลบ.ม/ วินาที พร้อมด้วยคลองชักน้ำ ความยาว 1,344 เมตร และประตูระบายน้ำ อัตราการระบาย 395 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันมีผลงานคืบหน้าแล้วกว่าร้อยละ 78 ของแผนงานฯ ทั้งนี้หากโครงการดังกล่าว ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขต จ.หนองคาย และ จ.อุดรธานี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานเดิม 15,000 ไร่ และเพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่ได้ถึง 300,195 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 284 หมู่บ้าน 37 ตำบล 7 อำเภอ ของจังหวัดหนองคายและอุดรธานี รวม 29,835 ครัวเรือน อีกทั้งยังเป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับ จ.หนองคาย สร้างรายได้และขยายอาชีพให้กับประชาชนในเขตพื้นที่โครงการฯ ที่สำคัญจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่จะช่วยขยายพื้นที่ชลประทานให้กับพื้นที่ใกล้เคียงได้อีกด้วยในอนาคต ส่งผลให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
และในช่วงบ่าย นายเศกสิทธิ์ โพธิ์ชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน พร้อมด้วยนายนิติพัฒน์ บุญช่วยเรืองชัย ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 5 และนายจิรัฏฐวัฒน์ เมืองแพน หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาโครงการประตูระบายน้ำห้วยเป อำเภอรัตนวาปี จังหวัดหนองคาย ที่มีเป้าหมายในการเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำต้นทุน เพื่อการอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร รวมถึงบรรเทาอุทกภัย โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านโนนฤาษี และบ้านกลุ่มพัฒนา ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแม่น้ำโขงหนุนสูงไหลย้อนเข้าท่วมแหล่งน้ำธรรมชาติและพื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายเป็นประจำทุกปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ระยะเวลาในการก่อสร้างประตูระบายน้ำหัวงานและอาคารประกอบ รวม 4 ปี (พ.ศ.2565 – 2568) ประกอบด้วย อาคารประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก ชนิดบานตรง ขนาด กว้าง 10 เมตร สูง 8 เมตร จำนวน 4 ช่อง สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 480 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันมีผลงานการก่อสร้างทั้งโครงการกว่าร้อยละ 45
ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะสามารถกักเก็บน้ำเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนให้ชาวบ้านในเขตพื้นที่อำเภอโพนพิสัยและอำเภอรัตนวาปี และมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาระบบการเกษตร และน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค อีกทั้งช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ และบริหารจัดการน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งของทุกปี โดยมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ช่วงฤดูฝน 9,000 ไร่ และช่วงฤดูแล้ง 2,500 ไร่ ราษฎรในพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 8,735 ครัวเรือน
No comments:
Post a Comment