นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมผู้ไทยผ้าไหมแพรวา บ้านโพน หรือ ศูนย์วิจิตรแพรวาบ้านโพน ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วย นายวัชรพงษ์ แก้วหอม รองอธิบดีกรมหม่อนไหม และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายธวัชชัย รอดงาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายสำเริง ม่วงสังข์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ และเจ้าหน้าที่ราชการส่วนภูมิภาคให้การต้อนรับ สำหรับการลงพื้นที่ตรวจราชการในวันนี้ รัฐมนตรีช่วยฯ ไชยา ได้มอบนโยบาย Soft Power ของรัฐบาลให้กรมหม่อนไหมนำไปผลักดัน ส่งเสริม และสนับสนุนการผลิตผ้าไหมแพรวาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อยกระดับผ้าไหมแพรวาบ้านโพน เป็น Soft Power ที่เกิดจากภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น รวมถึงคิดค้นลายผ้าเพิ่มเติมให้เป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภคในทุกระดับในราคาที่เข้าถึงและจับต้องได้ ซึ่งปี 2565 อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ออกแบบลายผ้าไหมแพรวา ชื่อว่า ลายพันมหาพัน ให้เป็นลายประจำอำเภอคำม่วง ประเมินมูลค่าเบื้องต้น 5 แสนบาท นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ มอบหมายให้กรมหม่อนไหมสนับสนุนการดึงศักยภาพผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ผ้าไหมแพรวา ออกสู่ตลาดโลก และเพิ่มช่องทางจำหน่าย โดยการร่วมมือกับจังหวัดต่าง ๆ คัดเลือกลายผ้าที่มีความโดดเด่นมาส่งเสริมการขาย และผลักดันให้ผ้าไทยเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์แบรนด์เนม หรือออกสู่เวทีโลก สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงไหม รวมถึงสร้างรายได้เข้าประเทศต่อไป นอกจากนี้ รมช.ไชยา ได้ร่วมสาธิตการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การทอผ้า การสางไหม การย้อมสีไหมด้วยวัสดุธรรมชาติในพื้นที่ และเยี่ยมชมคูหาจัดแสดงสินค้า GI อาทิ ผ้าไหมแพรวาของกลุ่มวิสาหกิจทอผ้าไหมแพรวา บ้านหนองแก่นทราย ร้านผ้าไหมแพรวาแม่ประคอง กาฬสินธุ์ สหกรณ์ศูนย์ศิลปาชีพทอผ้าไหมแพรวบ้านโพน กลุ่มทอผ้าไหมบ้านโคกหลัก 7 และชิมพุทรานมแก้วบ้านโพน สินค้า GI จากร้านสวนคูณคอง รวมถึงเยี่ยมชมโครงการสร้างทายาทหม่อนไหม สื่อกิจกรรมการออกแบบลวดลายผ้าไหมแพรวาแบบประยุกต์ ซึ่งให้เด็กนักเรียนร่วมสร้างสรรค์ลายผ้าไหมโดยคงอัตลักษณ์ของพื้นถิ่นไว้แต่มีความร่วมสมัยมากขึ้น
สำหรับข้อมูลหม่อนไหมของจังหวัดกาฬสินธุ์ มีเกษตรกรและผู้ประกอบการหม่อนไหมในพื้นที่รวมทั้งสิ้น 2,156 ราย (ปลูกหม่อน 252 ราย เลี้ยงไหมหัตถกรรม 345 ราย เลี้ยงไหมอุตสาหกรรม 40 ราย ทอผ้า 1,500 ราย และร้านค้าผ้าไหม 19 ราย) มีกลุ่มวิสาหกิจหม่อนไหม 162 กลุ่ม เกษตรกรอัจฉริยะ 637 ราย (เกษตรกรอัจริยะต้นแบบ (SFM) 252 ราย เกษตรกรอัจริยะที่มีอยู่เดิม (ESF) 345 ราย เกษตรกรที่กำลังพัฒนาเป็นเกษตรกรอัจฉริยะ (DSF) 40 ราย) ทั้งนี้ กรมหม่อนไหมจัดทำแนวทางขับเคลื่อนงานหม่อนไหมในพื้นที่ โดยเร่งฟื้นฟู สนับสนุนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหม่อนไหม ด้วยการยกระดับผลผลิต ลดต้นทุน เน้นเพิ่มมูลค่าสินค้าให้รองรับตลาด BCG รวมถึงจัดหาตลาดให้เกษตรกร และจัดหาแหล่งน้ำให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงหม่อนไหม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหม่อนไหมให้ได้คุณภาพมาตรฐาน อีกด้วย
No comments:
Post a Comment