กสศ. แอ็คชั่นเอด และเครือข่ายโรงเรียนเล็กทั่วประเทศ ยื่นข้อเสนอ ศธ.เปลี่ยนสูตรจัดสรรงบ เพิ่มคุณภาพ ลดเหลื่อมล้ำ ทำได้ใน 1 ปีงบประมาณ ขณะที่รมว.ศธ. ให้กสศ.รวบรวมข้อมูลปัญหา-ทางออกเพื่อร่วมกันทำงานต่อ พร้อมย้ำความสำคัญโรงเรียนของชุมชน
วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ร่วมกับ สหภาพยุโรป มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย สมาคมไทบ้าน เครือข่ายโรงเรียนปลายทางครูรักษ์ถิ่น ชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงและห่างไกล จัดเวทีขับเคลื่อนนโยบาย“ยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก ห่างไกล ความเสมอภาคที่เป็นจริงได้” ณ ห้อง Grand hall 1 โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร
โดยมีผู้อำนวยการ ครูจากโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศเข้าร่วม กว่า 100 แห่ง เพื่อยื่นข้อเสนอทางออกการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อเพิ่มคุณภาพการศึกษาให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กซึ่งมีราว เกือบ50 % ของโรงเรียนทั้งประเทศ ครอบคลุมผู้เรียนเกือบ 1 ล้านคน โดยมีพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ร่วมรับฟังตลอดระยะเวลา 3 ชั่วโมง และรับข้อเสนอจากเครือข่ายไปทำงานต่อตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข”
พลตำรวจเอกเพิ่มพูน กล่าวว่า มาร่วมงานนี้ เพื่อที่จะมารับฟังปัญหาจากทุกฝ่าย ซึ่งทราบดีว่า ครูและหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาร่วมงาน มีความตั้งใจ ที่จะช่วยสร้างแนวทางที่จะให้โรงเรียนและชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถปรับตัว ได้อย่างเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่สอดคล้อง กับนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ
“ผมเชื่อว่าครูคือหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ และผมยึดหลักว่า จะต้องไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว จึงเดินทางมาที่นี่เพื่อที่จะมารับฟังว่า แต่ละฝ่ายจะเสนอให้ปรับปรุงอะไร มีทรัพยากรอะไรที่กระทรวงศึกษาธิการจะช่วยโรงเรียนขนาดเล็กในแต่ละพื้นที่ได้ ผมจะไม่ใช่ผู้ที่มีบทบาทไปเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะบทบาทการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ เป็นหน้าที่ของพวกท่าน เป็นหน้าที่ของครูจากพื้นที่ต่างๆ ที่จะช่วยกันเสนอแนวทางแก้ปัญหานี้ แต่สิ่งที่ผมอยากเห็น คืออยากให้ครูมีหัวใจ ช่วยเด็กๆ ให้มีความรู้ มีคุณธรรม สิ่งที่อยากเห็นจากการจัดงานนี้ คือ ขอให้ กสศ. สรุปประเด็นสำคัญจากการวิจัยและเวทีวันนี้ สะท้อนทั้งปัญหาและทางออกมาให้กระทรวงศึกษาธิการนำมาพิจารณาและนำไปช่วยกันทำงาน” พลตำรวจเอกเพิ่มพูนกล่าว
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวถึงประเด็นข้อเสนอนโยบาย ว่า มีข้อเสนอนโยบาย 4 ประเด็น สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่เรียกว่า Stand Aloneหรือ protected school ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กบนเกาะ บนดอย ไม่สามารถยุบและควบรวมได้ตามมติคณะรัฐมนตรี เนื่องจากในรัศมี 6 กิโลเมตร ไม่มีโรงเรียนอื่นในประเทศมีประมาณ 1500 แห่ง บางโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ อุทยานแห่งชาติ /เขตป่าสงวนต้องการการดูแลสนับสนุน โรงเรียนเหล่านี้เป็นความหวังเดียวในพื้นที่นั้นที่จะมีการศึกษา ถ้าเราสามารถสนับสนุนให้โรงเรียนเหล่านี้จัดการศึกษาต่อไปได้ ความหวังก็จะยังมีอยู่ในชุมชน
1.เรื่องคน
ปัญหาที่ครูไม่ครบชั้น ไม่ครบสาระวิชา เป็นปัญหาเรื้อรังเป็นปัญหาที่โรงเรียนเหล่านี้ไม่มีบุคลากรที่ยืนระยะอยู่ได้ อย่างเต็มที่ กสศ.ทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษา พัฒนาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เฟ้นหาครูจากพื้นที่ ผู้ที่อยากเป็นครูของชุมชน ให้มาเรียนเป็นครู และกลับไปบรรจุในพื้นที่ ปัญหาการโยกย้ายก็จะไม่เกิดขึ้น นี้เป็นครั้งแรกที่สถาบันผลิตและพัฒนาครู 19 แห่งทั่วประเทศ ร่วมกับพัฒนาเรื่องนี้ และ หลังจากครูรัก(ษ์)ถิ่นบรรจุ สถาบันอุดมศึกษาทั้ง19 แห่ง จะติดตามเพื่อสนับสนุนครูเหล่านี้ในชุมชนต่อไปอีก 6 ปี เป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเรื่องของคน ที่ภาคอุดมศึกษาเข้ามาสนับสนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานตรงนี้ได้เพิ่มขึ้น
ในปีการศึกษา 2567 จะมีครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นแรกจำนวน 327 คน กระจายตัวไปยังโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร จำนวน 284 แห่ง ใน 224 ตำบล 44 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาค ในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า จะสามารถผลิตครูรักษ์ถิ่นได้ 1,500 คน จากนี้ กสศ. จะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายให้ครอบคลุมการผลิตครูในสาขาที่ขาดแคลนในประเทศ เช่น ครูการศึกษาพิเศษ
2.งบประมาณ
เมื่อเราผูกทุกอย่างไปกับจำนวนเด็ก ทำให้งบประมาณที่แต่ละโรงเรียนได้รับ ไม่สอดคล้องต่อบริบทของโรงเรียนขนาดเล็ก เหมือนร้านอาหาร ที่เปิดบริการปุ๊บก็เจ๊งแล้ว สูตรจัดสรรงบประมาณต้องปรับเปลี่ยน ทำให้สูตรนั้นนอกจากคำนวนตามหัวหรือจำนวนเด็ก แต่ต้องมีเรื่องระยะทาง ความห่างไกล ชดเชยความทุรกันดารด้วย จะทำให้ทรัพยากรไปที่โรงเรียนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ กระทรวงศึกษาอาจจะไม่ต้องใช้เงินเพิ่มแม้แต่บาทเดียว เพราะถ้าสูตรเปลี่ยน จะขยับเงินจากโรงเรียนขนาดใหญ่ ที่ได้เงินรายหัวเกินกว่าความจำเป็นที่ต้องมี หมุนไปสู่โรงเรียนขนาดเล็กได้ ด้วยการปรับสูตรเช่นนี้ เงินไม่ต้องเพิ่ม แต่เราจะลดความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรการศึกษาภายในระยะเวลา 1 ปีงบประมาณก็ทำได้แล้ว สูตรนี้มีตัวอย่าง กสศ. ทำงานวิจัยกับหลายหน่วยงาน เช่น กสศ.เตรียมสูตร Equity-based budgeting ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถสนับสนุนสูตรนี้ให้กระทรวงศึกษา และสำนักงบประมาณได้ว่า ถ้าเป็นโรงเรียนที่มีความต้องการพิเศษ โรงเรียนห่างไกลทุรกันดาร จะต้องใช้สูตรจัดสรรงบประมาณอย่างไร
นอกจากการปรับสูตรเงินอุดหนุนรายหัวแล้ว ยังมีสูตรงบประมาณในเรื่องของเงินลงทุน กสศ.มีการทำงานวิจัยกับธนาคารโลก เรียกว่า Fundamental School Quality Level: FSQL และใช้เงินบริจาคในการอัพเกรดโรงเรียน ตอนนี้ทำแล้วที่ราชบุรี เพื่อให้โรงเรียนสามารถอัพเกรดด้วยสูตรใหม่ สูตรนี้จะมีมาตรฐานคุณภาพขั้นต่ำ โครงสร้างอาคาร บุคลากร การจัดการเรียนการนสอน ด้วยสูตรนี้ งบลงทุนด้านการศึกษา สามารถจัดสรรให้โรงเรียนสามารถมีทรัพยากรเพียงพอ ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างเสมอภาค และมีคุณภาพได้ มีโครงสร้างพื้นฐานภายในโรงเรียนที่ดี และมีครูที่เพียงพอต่อนักเรียน
ข้อเสนอการปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณ ทั้งสองข้อนี้ ครอบคลุมงบประมาณส่วนใหญ่ของกระทรวงศึกษาเกือบทั้งหมด กว่า 80-90% ทั้งเรื่องของคน 60% เรื่องเงินอุดหนุนอีก 10% อีก 10% คือเรื่องของเงินลงทุน
3.นวัตกรรมการเรียนการสอน
โรงเรียนขนาดเล็ก จะคาดหวังให้มีครูครบชั้นในระยะเวลาอันสั้นคงเป็นไปได้ยาก จำเป็นต้องมีนวัตกรรมที่เรียกว่า Multi-age classroom เด็กไม่จำเป็นต้องอายุเท่ากันที่จะเรียนในชั้นเรียนเดียวกันได้ อาจจะผสมเด็กช่วงวัย 6-9 ขวบ อยู่ในห้องเรียนเดียวกัน และครูสามารถมีนวัตกรรมการสอนคละชั้น หลายประเทศที่มีภาวะทุรกันดารห่างไกล เช่น นิวซีแลนด์ใช้กระบวนการนี้มาหลายสิบปีแล้ว ทุกคณะศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ ต้องสอนให้ครูสามารถ สอน Multi- Age classroom เป็น
นอกจากนี้ต้องมีการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี เข้ามาส่งเสริมให้ครู ผู้เรียนสามารถใช้การเรียนการสอน กับเทคโนโลยีปัจจุบันได้ อินเทอร์เน็ต แล็บทอป เชื่อมโยงโลกเราทั้งใบเข้าไปอยู่ในห้องเรียนนี้ได้ จะทำให้ห้องเรียนสามารถเป็น smart class room ในอนาคตได้ ยังมีนวัตกรรมอีกมากมายที่จะทำตรงนี้ได้
4.การเชื่อมโยงชุมชน ปวงชนเพื่อการศึกษา all for education เช่นเดียวกับนโยบายรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน ความฝันของชุมชนคือ อยากให้ลูกหลานมีการเรียนรู้ที่ดี เป็นอนาคตของพื้นที่ ของชุมชน เราต้องชวนชุมชนให้มีส่วนร่วม จัดการศึกษาในโรงเรียนตั้งแต่วันนี้ ทำอย่างไรให้ภาคเอกชน ผู้นำท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งมีตัวอย่างที่ราชบุรีรวมถึงจังหวัดอื่นๆ
สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ใช่ protected school ดร.ไกรยส กล่าวว่า ถ้าเราอยากจะเห็นผลลัพธ์ที่แตกต่างเราควรมาร่วมกันเปลี่ยนโจทย์โรงเรียนขนาดเล็กเพื่อเปลี่ยนอนาคตของโรงเรียนกลุ่มนี้ เช่น เป็นเรื่องปฏิเสธไม่ได้ ว่าคนไทยไม่ว่าช่วงวัยไหนไม่ควรหยุดพัฒนา สามารถพัฒนาได้ตลอดเวลา คนในชุมชน เด็กปฐมวัย ผู้สูงอายุ วัยแรงงาน ล้วนได้ประโยชน์จากการพัฒนาตนเองที่โรงเรียน เราอาจเปลี่ยนโรงเรียนเล็ก เป็นศูนย์เรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ทุกช่วงวัย สอดคล้องกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พ.ศ.2566 ที่ สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ กำลังมีการขยายพื้นที่การทำงาน
ถ้าเปลี่ยนได้เป็นการจัดการเรียนรู้ทุกช่วงวัย หลายหน่วยงานจะเข้ามาสนับสนุนโรงเรียนได้ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย จะร่วมต่อท่อให้ทรัพยากรเหล่านี้เข้ามาอยู่ที่โรงเรียนได้ เพื่อให้โรงเรียนได้รับการดูแล พัฒนา เป็นพื้นที่เรียนรู้ของชุมชนได้ อย่างแท้จริงยั่งยืน ผู้ปฏิบัติหน้าที่ก็ปรับเปลี่ยนโจทย์นอกจากจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กแล้ว สามารถทำในภารกิจอื่นได้เช่นกัน
ผู้จัดการ กสศ.กล่าวว่า นอกเหนือจากปรับโจทย์คือการปรับระเบียบ ตนเองลงพื้นที่หลายปี ผู้นำท้องถิ่น เช่น นายก อบจ. นายกเทศบาล อยากจะจัดสรรเงินท้องถิ่น มาให้โรงเรียนแต่ติดเงื่อนไข ที่สตง.ตรวจ และจะให้คืนเงิน ผอ.หลายท่าน ก็ทำการบ้าน ต้องทำหนังสือจากผอ.รร. ถึงเลขาสพฐ. เพื่อยืนยัน ว่า ไม่มีงบประมาณจากสพฐ. ใดใดแล้วจริงๆ ที่จะมาดูแลโรงเรียนเหล่านี้ และให้ตอบกลับมาเพื่อให้นายกเทศมนตรีใช้ในการตั้งงบประมาณ วงจรนี้หลายปีกว่าจะเสร็จ ถ้าสามารถปรับระเบียบ กติกาที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะกระทรวงแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษา กระทรวงมหาดไทย สามารถจัดสรรงบประมาณสนับสนุนตรงนี้มาที่โรงเรียนได้ จะมีทรัพยากรอีกมากมาย มาที่สถานศึกษาขนาดเล็กได้ในอนาคต
ทั้งหมดคือข้อเสนอของกสศ. กลั่นจากหน่วยงานทั้งระดับพื้นที่และรดับประทศ และระดับนานาชาติ เพื่อสนับสนุนให้อนาคตของโรงเรียนขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็น protected school หรือ non protected school สามารถที่จะมีความยั่งยืนและเป็นของชุมชนอย่างแท้จริง
นายเทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย ผู้ประสานงานโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพ (Access School)กล่าวว่า การทำงานที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่า ชุมชนบางแห่งสามารถนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาเปลี่ยนเป็นโอกาสในการสร้างองค์ความรู้ ที่นำไปใช้กับชุมชนได้จริง และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการจัดการศึกษา เป็นเรื่องของทุกคน เป็นเรื่องของทุกภาคส่วน และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน เข้ามาสนับสนุนโรงเรียนขนาดเล็กให้อยู่ได้
“จากการทำงาน เพื่อดูแลโรงเรียนขนาดเล็ก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่า สิ่งที่เป็นยาขมมากสำหรับ การแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก คือเรื่องของการ จัดสรรงบประมาณรายหัว เราเคยเสนอว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเปลี่ยนจาก จัดสรรงบประมาณรายหัว เป็นการจัดสรรงบประมาณเชิงพื้นที่ และควรจะปลดล็อคระเบียบ บางอย่าง เช่นเรื่องครูฝึกสอน ซึ่งพบว่าโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีครูสอนคละชั้น คละวิชา ไม่สามารถรับครูฝึกสอนที่ไม่มีครูพี่เลี้ยงเด็ก หรือครูที่มีวิชาเอกไม่ตรงกันมาช่วยสอนได้ รวมถึงปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่ง ที่อยากถ่ายโอนไปให้กับท้องถิ่น แต่ก็ติดกับระเบียบที่ทำให้ดำเนินการได้ยาก”
ดร.ศุภโชค ปิยะสันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย และที่ปรึกษาเครือข่ายชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการดูแลโรงเรียนขนาดเล็ก คือการทำให้โรงเรียนกับชุมชนเป็นเรื่องเดียวกัน มุมมองของการศึกษาในอนาคต คือเรื่องของการเรียนรู้ตลอดชีวิต การจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก จึงต้องมองมากกว่าเรื่องของตัวเด็กนักเรียน โรงเรียนอาจจะต้องมีบทบาทในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชน ชุมชนสร้างโรงเรียนโรงเรียนก็ต้องสร้างชุมชน หากเปลี่ยนความคิดได้ว่าการมีโรงเรียนขนาดเล็กไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ไม่ใช่เรื่องการลดคุณภาพการศึกษา แต่เป็นเครื่องมือของรัฐที่จะใช้เจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่เพื่อพัฒนาชุมชน หากเราทำโรงเรียนขนาดเล็ก ให้เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพของชุมชน สิ่งที่ทำก็จะกลายเป็นโอกาสหนึ่งของการพัฒนาประเทศ
โรงเรียนขนาดเล็กจะกลายเป็นเครื่องมือหนึ่ง ที่จะช่วยให้ชุมชนเติบโต รัฐมีเครื่องมือหนึ่ง ก็คือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด มีผู้แทนของประชาชนเข้าไปทำงานและมีงบประมาณ ในการจัดการปัญหาพัฒนาพื้นที่ หากเปิดโอกาสด้วยการปลดล็อค หรือกฎระเบียบบางอย่าง ให้หน่วยงานนี้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาโรงเรียน
“ ปัจจุบันนี้ อบต. ติดระเบียบบางอย่างที่ ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กได้ แม้จะเห็นว่าโรงเรียนถูกพายุพัดหลังคา หายไปต่อหน้าต่อตาก็ไม่สามารถซื้อกระเบื้องมาเปลี่ยนให้โรงเรียนได้ เพราะติดอยู่กับระเบียบที่ว่า คนละหน่วยงานกันไม่สามารถช่วยเหลือกันได้ ควรจะหาวิธีปลดล็อคกฎระเบียบให้ท้องถิ่นเข้ามาช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กได้ จะทำให้ชุมชนอีกหลายแห่งอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข” ดร.ศุภโชคกล่าว
No comments:
Post a Comment