6 หน่วยงาน อว. MOU พัฒนา “อาหารพื้นถิ่น” และอาหารฟังก์ชั่น ด้วยการฉายรังสี - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Friday, 5 January 2024

6 หน่วยงาน อว. MOU พัฒนา “อาหารพื้นถิ่น” และอาหารฟังก์ชั่น ด้วยการฉายรังสี

กระทรวง อว. เดินหน้ายกระดับอาหารพื้นถิ่น และอาหารฟังก์ชั่น สู่นวัตกรรมอาหารปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีการฉายรังสี เพื่อเพิ่มโอกาสการตลาด ผ่านความร่วมมือ 6 หน่วยงานหลัก นำโดย สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. พร้อมด้วย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) โดยมีจังหวัดเป้าหมาย คือ อุดรธานี บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ
วันนี้ (5 ม.ค.67) ณ อาคารพระจอมเกล้า ชั้น 1 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านงานวิจัย พัฒนานวัตกรรมและการใช้ประโยชน์ โดยมี รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. และอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 4 แห่ง ได้แก่ มรภ.อุดรธานี มรภ.บุรีรัมย์ มรภ.สุรินทร์ และ มรภ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สทน. วช. และ มรภ. เข้าร่วมงาน 
นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เปิดเผยว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกระทรวงที่ดูแลและขับเคลื่อนองค์ความรู้ของประเทศ ทั้งการพัฒนากำลังคนขั้นสูง การวิจัยและพัฒนา การนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ประโยชน์ และการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆในการขับเคลื่อนการวิจัย การลงนามความร่วมมือของทั้ง 6 องค์กรในวันนี้ จึงนับเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่องค์กรด้านวิทยาศาสตร์และภาคการศึกษาได้มาสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวง ในยุทธศาสตร์ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เรื่องการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การส่งเสริมความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งตรงกับยุทธศาสตร์ในเรื่องการวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ของประเทศ และสร้างระบบนิเวศการวิจัย
รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. กล่าวเพิ่มเติมว่า การยกระดับผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่น เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐาน ด้วย “เทคโนโลยีและนวัตกรรม” เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯในวันนี้ จึงเกิดขึ้นเพื่อให้การฉายรังสีในอาหารเป็นที่ยอมรับและมีการใช้ประโยชน์แพร่หลายมากขึ้น และจากการที่ทุกวันนี้คนไทยตื่นตัวเรื่องการดูแลสุขภาพ ส่งผลให้มี “อาหารฟังก์ชั่น” และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ เกิดขึ้นมากมาย สทน. จึงมุ่งหวังนำเทคโนโลยีการฉายรังสี มาร่วมวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารฟังก์ชัน ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เพื่อช่วยรับรองถึงประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ พร้อมสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพออกมาจำหน่าย ให้คนไทยได้มีสุขภาพที่ดีต่อไปด้วย
สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานต่อยอดในพื้นที่ “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ต่อเนื่องจากปี 2566 ที่ผ่านมา โดยในปี 2567 นี้ มีผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่น ในจังหวัดเป้าหมาย คือ มรภ.อุดรธานี ได้แก่ หมกฮวก แหนมเนือง แหนมกบ ขนมปังญวณ / มรภ.บุรีรัมย์ ได้แก่ ยำกุ้งจ่อม ดักแด้ทรงเครื่อง แกงเผือกปลาย่าง ขนมตดหมา / มรภ.สุรินทร์ ได้แก่ หมาน้อย แกงกล้วย ปลาปิ้ง ข้าวต้มใบมะพร้าว และ มรภ.ศรีสะเกษ ได้แก่ “เบ๊าะกะต๊าด” หรือส้มตำกระดาษ แกงอ่อมปู แกงเปรอะทุเรียนภูเขาไฟ ไก่ย่างไม้มะดัน เป็นต้น โดยทุกหน่วยงานจะทำงานร่วมกันทั้งในเรื่องการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ การสร้างการยอมรับเรื่องประโยชน์ของการฉายรังสีผลิตภัณฑ์ และอำนวยความสะดวกให้มีศูนย์ประสานงาน ในการส่งผลิตภัณฑ์เพื่อมาฉายรังสี รวมทั้งมีการใช้พื้นที่และทรัพยากรต่างๆ ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาตัวสินค้า จนสามารถขยายไปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะนำไปจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ 
“โอกาสนี้ ผมอยากขอเชิญชวนผู้ประกอบการ สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ได้นะครับ สทน.และหน่วยงานภาคีที่ MOU ร่วมกันในวันนี้ พร้อมแล้วที่จะนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีอยู่ มาช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการทุกท่าน ทั้งกลุ่ม OTOP วิสาหกิจชุมชน และSME ให้เป็นธุรกิจชุมชนที่เข้มแข็ง และผลิตภัณฑ์ท่านจะมีทางเลือก มีโอกาสในการทำตลาดเพิ่มมากขึ้นครับ” ผอ.สทน.กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ นับจากปี 2564 ที่ สทน. ได้ร่วมกับสถาบันราชภัฏ นำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ด้านการฉายรังสีอาหาร ลงไปส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิตอาหารพื้นถิ่น และกลุ่มผู้ประกอบการ SME ภายใต้โครงการ “การสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่น ด้วยการฉายรังสีอาหาร” ทำให้ขณะนี้ มีผลิตภัณฑ์ที่เข้าร่วมโครงการแล้ว รวมทั้งสิ้น 543 ผลิตภัณฑ์ 











No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages