อว. สกสว. บพข. ภายใต้แผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จับมือ TEATA หนุนเสริมกิจกรรมนำร่องการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและกระบี่ พร้อมชูแอพพลิเคชัน “Zero Carbon” ส่งท้ายปี 2566 ตอบโจทย์การประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์และการชดเชยด้วยคาร์บอนเครดิต ขับเคลื่อนท่องเที่ยวด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระหว่างวันที่ 24 – 26 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา
นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและไมซ์ของประเทศไทยสู่ความยั่งยืน สอดรับวิสัยทัศน์ของรัฐบาล ในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและส่งเสริมอนาคตที่ยั่งยืน โดยเป้าหมายอันใกล้ คือ การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายในระยะยาว คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero GHG Emissions ในปี 2065 โดยการบูรณาการการทำงานระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศนั้น แผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข. ภายใต้ กองทุน ววน. สกสว. มีการประสานข้อมูล องค์ความรู้ วิทยาการต่างๆ ตลอดจนภาคีเครือข่ายจำนวนมาก ซึ่งเน้นหลักการสำคัญ ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี คือ “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ”เน้นการวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นสำคัญของประเทศ ได้แก่ Go Green พอเพียง ความยั่งยืน Carbon Neutrality พลังงานสะอาด เศรษฐกิจชีวภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยมี “เอกชนนำ รัฐสนับสนุนหนุน เสริมให้เอกชนซึ่งเป็นผู้ที่จะใช้ประโยชน์ทำหน้าที่กำหนดทิศทางและความต้องการ จากนั้นสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะเข้าไปดำเนินการสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง ทั้งนี้ ยังเน้นย้ำการบูรณาการทำงานที่เชื่อมประสานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ นักวิจัย สถาบันการศึกษา รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ เพื่อให้การวิจัยไม่ได้เป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้น แต่ยังนำไปใช้ได้และเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอีกด้วย ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามที่ ท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้ให้นโยบายไว้
สำหรับตัวอย่างงานวิจัยที่ กระทรวง อว. กำลังดำเนินการ โดยกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้จัดทำแผนที่นำทางการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (carbon capture, utilization and storage : CCUS) ของประเทศไทย และการวิเคราะห์นโยบาย และระบบสนับสนุนที่จำเป็นเพื่อรองรับการวิจัยพัฒนาในประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อการประมาณการทรัพยากร และกลไกสนับสนุนที่สำคัญที่ประเทศต้องส่งเสริม รวมถึงกลไกความร่วมมือกับพันธมิตรต่างประเทศ ให้ตรงตามช่วงเวลาที่สอดรับกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ การดำเนินการก่อตั้ง Thailand CCUS Alliance (TCCA) เพื่อเป็นศูนย์กลางด้าน CCUS ต่อไป โดยในขณะนี้ได้ CCUS technology roadmap แล้ว ในขณะเดียวกัน การทำงานภายในกระทรวง อว. กำลังดำเนินการจัดตั้ง SRI (Science Research and Innovation) Consortium for Net Zero ร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ขับเคลื่อน SRI (Science Research and Innovation) Consortium for Net Zero เพื่อส่งเสริมและผลักดันการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเกิดผลกระทบเชิงบวกด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมจากการใช้ ววน. บูรณาการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน โดยมีหน่วยบริหารและจัดการทุน (Program Management Unit: PMU) ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ร่วมในการขับเคลื่อน “สำหรับประชาชน สมาคม ผู้ประกอบการภาคเอกชน ที่มีความสนใจหรือมีความประสงค์นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์หรือต่อยอด สามารถประสานผ่าน สกสว. ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารจัดการ กองทุน ววน. หรือ กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน ขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทุกด้านได้โดยตรง” นางสาวสุชาดา กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า ภาคการท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญที่มีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ด้วยกิจกรรมท่องเที่ยวจะช่วยเสริมแกร่งการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างตรงจุด เป็นการส่งเสริมและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทย และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของโลกที่เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ บพข. ภายใต้แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมี ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ประธานอนุกรรมการแผนงานฯ และคณะอนุกรรมการที่ครอบคลุมภาครัฐ ภาคเอกชนร่วมพลังขับเคลื่อน เน้นการออกแบบแผนงานวิจัยเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยว สร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนและผู้ให้บริการในภาคการท่องเที่ยว จึงได้เริ่มต้นแผนงานการท่องเที่ยวแบบ Carbon Neutral Tourism (CNT) เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ตั้งแต่ปี 2564 ผ่านความร่วมมือภาคีเครือข่าย 3 กระทรวง 8 ภาคี คือ สกสว./บพข. ททท. สสปน. อพท. หอการค้าไทย/สมาคมหอการค้าไทย และที่สำคัญมีภาคเอกชน คือ สมาคมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) ร่วมคิด ร่วมทำและขับเคลื่อนงานด้วยกัน ผู้ประกอบการและคณะวิจัยได้ร่วมกันออกแบบโปรแกรม/กิจกรรมการท่องเที่ยวให้เป็นที่ยอมรับระดับสากลเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพ โดยผู้ประกอบการสามารถขายได้จริง สร้างรายได้ให้กับประเทศได้จริง อีกทั้งยังกระจายการนำแนวคิด CNT มาใช้ในการท่องเที่ยวต่างๆ กับฝั่ง Supply อาทิ การท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม (ฝั่งอันดามัน/อ่าวไทย/เขตอุทยานแห่งชาติ) เชิงเกษตร วิถีแห่งสายน้ำ เชิงอาสาสมัคร เชิงกีฬา เป็นต้น ปัจจุบันปี 2566 ทำให้มีผลิตภัณฑ์/เส้นทาง/บริการทางการท่องเที่ยว รวมทั้งผู้ประกอบการและชุมชนที่มีความพร้อมในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นชุมชนกว่า 450 ราย มีเครือข่ายระดับประเทศราว 10 หน่วยงาน เครือข่ายระดับพื้นที่และ DMC ราว 50 องค์กร รวมทั้งสถาบันการศึกษาจาก 20 มหาวิทยาลัย นักวิจัยมากกว่า 200 คน
กิจกรรมในครั้งนี้ สื่อมวลชนจะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างการรับรู้แก่สาธารณชน กระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการทางการท่องเที่ยว รวมถึงชุมชนสังคมในพื้นที่ ให้เห็นความสำคัญในการปรับกระบวนด้วยฐานงานวิจัยที่เน้นความยั่งยืนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ Press Trip จะมีการใช้งานแอพพลิเคชัน “Zero Carbon” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุน ววน. สกสว. โดย บพข. ภายใต้แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมกับ อบก. TEATA และภาคีเครือข่าย โดยมี อบก. เป็นผู้ดำเนินการจัดทำและดูแลแอพพลิเคชันนี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่ผู้เดินทางได้มีโอกาสร่วมทดสอบใช้งาน เก็บข้อมูล และประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางหรือคาร์บอนฟุตพรินท์จากการเดินทางและการทำกิจกรรมท่องเที่ยวต่าง ๆ พร้อมดำเนินการจัดซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่เกิดจากอีเว้นท์ในครั้งนี้จนได้รับประกาศเกียรติคุณผ่านระบบของแอพพลิเคชัน ทั้งนี้ บพข. เชื่อมั่นว่าแอพพลิเคชันดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการมีความสามารถในการประเมินและชดเชยแบบอนุมานอย่างง่ายและรวดเร็ว อีกทั้งมีส่วนสนับสนุนโครงการคาร์บอนเครดิตในประเทศอย่างต่อเนื่อง และจะต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ นำพาประเทศไทยสู่ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในระดับสากลได้อย่างสมบูรณ์ โดย บพข. พร้อมเป็นภาควิชาการที่หนุนเสริมการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการระหว่างภาคีเครือข่ายทั้งรัฐ เอกชน สมาคม สถาบันการศึกษา เพื่อทำให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมแก้ไข Pain point ของอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง
นางรัชดาภรณ์ โออิน ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ นับเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจมากขึ้นในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่หันมาดูแลเอาใจใส่สิ่งแวดล้อมรอบตัว ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งภาคธุรกิจและประชาชนได้กลับมาครึกครื้นอีกครั้ง ขณะที่ทิศทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต คือ ทะเล ชุมชน และอาหาร เพราะเรามีทรัพยาการทางทะเลที่สวยงามและมีความอุดมสมบูรณ์ เรามีชุมชนที่อัตลักษณ์ อย่างย่านเมืองเก่าภูเก็ต รวมถึงอาหารการกินที่มีการใช้วัตถุดิบพื้นถิ่น เราจึงใช้ 3 จุดนี้เป็นจุดขายผนวกกับการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ ชุมชนหรือธุรกิจท่องเที่ยว เน้นการนำเสนอสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว หันมาใช้วัสดุทางธรรมชาติมาเป็นแพคเกจจิ้งที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่ำกว่า มีการใช้วัตถุดิบในพื้นที่ในการปรุงอาหาร มีกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่รบกวนธรรมชาติ อย่างการพายเรือคายัค รวมถึงการปลูกป่าชายเลน เพื่อชดเชยคาร์บอน จึงอยากเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศมาสัมผัสวัฒนธรรมประเพณี และทรัพยากรธรรมชาติ ภูเก็ตเราพร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ใส่ใจทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
ด้าน รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน ผู้อำนวยการแผนงานการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ บพข. กล่าวว่า งานวิจัยที่อยู่ภายใต้แผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ประกอบด้วย นักวิจัยมากกว่า 200 คน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. มีงานวิจัยที่ครอบคลุมทุกภูมิภาคและทุกระบบนิเวศ โดยมีความร่วมมือบูรณาการทำงานร่วมกันกับผู้ประกอบการที่จะเข้ามาช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันประเทศ กลุ่มผู้ประกอบการจะหนุนเสริมด้านการตลาด จนนำไปสู่การขายการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยงานวิจัยในลักษณะเชิงบูรณาการทำงานร่วมกัน
สำหรับงานวิจัย “การพัฒนามาตรฐานการท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย”ได้ดำเนินการชดเชยการปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมการท่องเที่ยวทางทะเล โดยแนวทางการแก้ปัญหาการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศด้วยธรรมชาติ (Nature-based solutions) เพื่อช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศด้วยระบบคาร์บอนสีน้ำเงิน (Blue carbon) เช่น การปลูกป่าชายเลน การฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอตัวอย่างของโปรแกรมการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์สำหรับกิจกรรมดำน้ำตื้น 4 เกาะ (ทะเลแหวก) จังหวัดกระบี่ โดยผู้ประกอบการจาก Railay local travel ที่ถือเป็นผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเลที่ผ่านการอบรมมาตรฐานการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย มีแผนการจัดการด้านความปลอดภัยเป็นอย่างดี มีการจัดการดูแลเครื่องยนต์ คู่มือแนะนำการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแบบสองภาษา การลดขยะจากขวดน้ำและการจัดการอาหารว่างในระหว่างท่องเที่ยว เป็นต้น
สำหรับ นายดอน ลิ้มนันทพิสิฐ ประธานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ทางชุมชนได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับจากงานวิจัยมาออกแบบกิจกรรมที่พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง เช่น กิจกรรมท่องเที่ยวย่านเก่า วิถีใหม่ด้วยรถจักรยาน รถจักรยานไฟฟ้า และสกู๊ตเตอร์ ชมงานหลังบ้านด้านการจัดการพลังงานและขยะ กิจกรรม Sand Spa การจับจักจั่นทะเล และการปลูกผักลิ้นห่าน ที่ชุมชนไม้ขาว กิจกรรมนวดแผนไทย การมัดย้อมสีธรรมชาติและบาติกไขมันปาล์มผ้าที่ใช้แล้วเพื่อสร้างรายได้วิสาหกิจชุมชน และการทำเครื่องดื่มคาร์บอนต่ำจากวัตถุดิบชุมชนห้วยน้ำขาว เป็นต้น ซึ่งในการดำเนินงานได้มีเครือข่ายชุมชมท่องเที่ยวเมืองเก่าภูเก็ตเป็นกำลังสำคัญที่หนุนเสริมร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยมี คุณสมยศ ปาทาน เป็นประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต
ขณะที่ นายนิพัทธ์พงษ์ ชวนชื่น สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) กล่าวว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นล้วนตอบโจทย์การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ จากสิ่งที่ทำได้ง่ายจนถึงสิ่งที่ทำได้ยากไปตามลำดับ เช่น เริ่มจากการปฏิเสธการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว การรับประทานอาหารเมนูคาร์บอนต่ำที่เลือกใช้วัตถุดิบหลักแบบหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์จากฟาร์ม เน้นวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นเพื่อลดระยะทางในการขนส่งวัตถุดิบจากสถานที่อื่น ซึ่งเป็นการลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคการขนส่ง การวางแผนการใช้วัตถุดิบอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยปรับเป็นจัดเสิร์ฟแบบเฉพาะคนหรือกำหนดปริมาณเอง เพื่อช่วยกันลดอาหารเหลือและส่งเสริมให้มีการจัดการใช้ประโยชน์จากเศษอาหาร ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและติดตั้งพลังงานสะอาดเพิ่มเติมเมื่อมีความพร้อม เลือกที่พักที่มีนโยบายเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการใช้พลังงานฟอสซิลลง การสนับสนุนการฟื้นฟูระบบนิเวศ เช่น แหล่งหญ้าคาทะเล เพื่อเป็นเครื่องมือชดเชยการปล่อยคาร์บอน เพิ่มความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนในอนาคต ซึ่งจะมีผลกระทบเชิงบวกระยะยาวต่อระบบนิเวศ รวมถึงการท่องเที่ยวในชุมชนที่มีการบริหารจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สำหรับการจัดกิจกรรม ครั้งนี้ซึ่งจัดขึ้นในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและกระบี่ ได้ดำเนินการประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ตั้งแต่การเดินทางจากกรุงเทพด้วยแอพพลิเคชั่น Zero Carbon ได้ผลลัพธ์เป็นจำนวน 11.02 ตัน(tCO2eq) ทำการชดเชยด้วยคาร์บอนเครดิตทั้งหมด รวมทั้งสิ้น 12 ตัน (tCO2eq) จนได้รับประกาศเกียรติคุณจาก อบก. ในรูปแบบการรับรองตนเองที่ง่าย รวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการรับรองแบบอื่นมาก ทั้งนี้ในอีเว้นท์ท่องเที่ยวครั้งนี้มีการจัดการเพื่อลดคาร์บอนฟุตพรินท์จากเส้นฐาน(ถ้าไม่มีการจัดการใดๆเลย)กว่า15% เช่น กรณีของการเดินทางโดยเครื่องบินที่ถือเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลักของอีเว้นท์ครั้งนี้ได้มีการปรับโดยมีบางส่วนของคณะเดินทางเป็นแบบรถตู้แทน มีการเลือกใช้บริการสายการบินที่มีนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างชัดเจน รถตู้ที่ให้บริการงดการแจกผ้าเย็นและน้ำขวด ในพื้นที่ต่างๆก็มีการปรับใช้พาหนะท้องถิ่นเพื่อใช้ท่องเที่ยวในพื้นที่ เช่น รถโพถ้อง ซาเล้ง จักรยานไฟฟ้า เป็นต้น มีการเตรียมพื้นที่จัดอีเว้นท์ในแต่ละจุดให้เป็นในที่เปิดโล่งแทบทั้งหมดและเลือกจัดเสวนาในสมาคมไทยหัวซึ่งมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าจากระบบสายส่ง มีการเลือกที่พักที่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและเลือกที่พักที่ระดับดาวต่ำลงในบางส่วนเพื่อลดคาร์บอนฟุตพรินท์จากการพักแรม จัดการเมนูอาหารอย่างประณีตเพื่อลดอาหารเหลือในแต่ละมื้อ รวมไปถึงการเตรียมตัวให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมร่วมลดขยะจากต้นทาง รวมถึงยังมีกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอาสาเพื่อฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล แจกของที่ระลึกจากผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ และอีกหลายอย่างที่ทำให้สามารถลดการปล่อยจากเส้นฐานลงไปได้ นับเป็นจุดเริ่มต้นจากการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวสุทธิเป็นศูนย์อย่างเป็นรูปธรรม
เป้าหมายความสำเร็จของแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในกลุ่ม CNT ในช่วง 5 ปี (ปี 2566-2570) มุ่งให้ประเทศไทยเป็น Net Zero Tourism ด้วยการสร้างการวิจัย นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวร่วมกับผู้ประกอบการ โดยยกระดับจากการท่องเที่ยวแบบปกติให้เป็นการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และขยับเป้าหมายสู่การท่องเที่ยวที่มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ที่สามารถตอบโจทย์นักท่องเที่ยวคุณภาพ เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ สังคม ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างการมีส่วนร่วมให้กับผู้เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกัน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
No comments:
Post a Comment