กรมชลฯ ลงพื้นที่ติดตามแผนพัฒนาลุ่มน้ำหมันแก้ปัญหาภัยแล้ง-อุทกภัยซ้ำซาก - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Wednesday, 24 April 2024

กรมชลฯ ลงพื้นที่ติดตามแผนพัฒนาลุ่มน้ำหมันแก้ปัญหาภัยแล้ง-อุทกภัยซ้ำซาก

กรมชลฯ ลงพื้นที่ติดตามแผนพัฒนาลุ่มน้ำหมันแก้ปัญหาภัยแล้ง-อุทกภัยซ้ำซาก

เร่งแผนศึกษา 3 โครงการสอดรับความต้องการใช้น้ำสร้างประโยชน์ปชช.ระยะยาว 

“กรมชลประทาน” ลงพื้นที่ติดตามความเหมาะสม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหัวนายูง โครงการประตูระบายน้ำบ้านปากหมัน และโครงการประตูระบายน้ำบ้านนาหมูม่น ในพื้นที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ภายใต้แผนพัฒนาลุ่มน้ำน้ำหมัน มุ่งบรรเทาผลกระทบอุทกภัย-ภัยแล้ง สร้างแหล่งน้ำต้นทุน- สู่เป้าหมายการบริหารจัดการน้ำยั่งยืน เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร หวังยกระดับความเป็นอยู่ชาวบ้านในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง มั่นใจมีปริมาณน้ำรองรับความต้องการนานถึง 30 ปี รวมพื้นที่รับประโยชน์กว่า 16,175 ไร่  

นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำบ้าน หัวนายูง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งเป็นโครงการที่มีความสำคัญและอยู่ในแผนปฏิบัติระยะกลาง ในแผนพัฒนาลุ่มน้ำน้ำหมัน ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย และภัยแล้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนภาคการเกษตร ซึ่งแต่ละปี มักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นประจำ ในช่วงฤดูแล้ง และเกิดอุทกภัยในพื้นที่อำเภอด่านซ้าย ซึ่งจำเป็นต้องบริหารจัดการ และพัฒนาเป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อใช้อุปโภค-บริโภค เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่โครงการ และพื้นที่ใกล้เคียง ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยการเพิ่มน้ำต้นทุนที่มั่นคง และมีประสิทธิภาพ 

สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหัวนายูง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นโครงการอ่างเก็บน้ำประเภทเขื่อนคอนกรีต มีพื้นที่รับน้ำ 276 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย พื้นที่หัวงาน อ่างเก็บน้ำมีความจุกักเก็บ 28.18 ล้าน ลบ.ม. อาคารระบายน้ำล้น อาคารท่อส่งน้ำและระบายน้ำลงลำน้ำเดิม ระบบท่อส่งน้ำ ถนนเข้าหัวงาน รวมพื้นที่ 807 ไร่ โดยมีหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการน้ำแบบยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำบ้านหัวนายูง และยังสนับสนุนการใช้น้ำในทุกกิจกรรมของประชาชนอย่างทั่วถึง หากโครงการแล้วเสร็จ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำที่เพียงต่อการใช้ในกิจกรรมต่างๆ ในอนาคตนานถึง 30 ปี ครอบคลุม 15 หมู่บ้าน คิดเป็นพื้นที่รวม 7,760 ไร่ หรือคิดเป็นปริมาณน้ำ 84.494 ล้าน ลบ.ม. 

นอกจากนี้กรมชลประทานยังได้จัดทำโครงการที่อยู่ในแผนระยะสั้น ภายใต้แผนพัฒนาลุ่มน้ำน้ำหมัน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงด้านปัญหาภัยแล้งและบรรเทาปัญหาอุทกภัย  อีก 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการประตูระบายน้ำบ้านปากหมัน อำเภอด่านซ้าย ซึ่งเป็นโครงการที่ถูกจัดอันดับความสำคัญอันดับ 1 และอยู่ในแผนปฏิบัติงานระยะสั้น เพื่อใช้เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำในลำน้ำหมัน สำหรับภาคการเกษตรและเป็นน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภค-บริโภคในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง เนื่องจากที่ผ่านมาพื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลาก เนื่องจากปริมาณน้ำหมันไม่สามารถไหลลงสู่น้ำเหืองที่มีระดับน้ำสูง ประกอบกับปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่ด้านท้ายน้ำโดยที่ไม่สามารถเก็บกักน้ำส่วนเกินไว้ได้ ทำให้ในช่วงฤดูแล้งเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตร รวมถึงน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคในพื้นที่ปากหมันและพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งนี้ หากโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถกักเก็บน้ำ เมื่อสิ้นสุดฤดูฝนโดยไม่เกิดผลกระทบในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการใช้น้ำในแต่ละกิจกรรม โดยจะแบ่งแนวทางบริหารจัดการเป็น 2 ช่วงเวลา ได้แก่ แนวทางบริหารจัดการประตูระบายน้ำในช่วงฤดูฝนและฤดูร้อน ซึ่งมีพื้นที่ได้รับผลประโยชน์ครอบคุลม 7 หมู่บ้าน ในพื้นที่ตำบลนาดี และตำบลปากหมัน คิดเป็นพื้นที่จำนวน 2,500 ไร่ หรือคิดเป็นปริมาณน้ำรวม 2.978 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น เพื่อการชลประทาน 2.807 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุปโภคบริโภค 0.127 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุตสาหกรรม 0.002 ล้าน ลบ.ม. เพื่อปศุสัตว์ 0.042 ล้าน ลบ.ม.  2. โครงการประตูระบายน้ำบ้านนาหมูม่น อำเภอด่านซ้าย ถูกจัดลำดับความสำคัญในระดับสูง และอยู่ในแผนปฏิบัติงานระยะสั้น เป็นโครงการที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของลุ่มน้ำน้ำหมัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและปัญหาภัยแล้งอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นพื้นที่มีความเสี่ยงทั้งด้านปัญหาภัยแล้งและปัญหาน้ำท่วม หากโครงการแล้วเสร็จ จะมีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่ 5 หมู่บ้าน ใน 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลนาดี และตำบลนาหอ สามารถกักเก็บน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ภาคการเกษตร ใช้เป็นน้ำต้นทุนในการอุปโภค-บริโภค ทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง คิดเป็นพื้นที่รวม 1,675 ไร่ แบ่งเป็นรับประโยชน์ฝั่งซ้าย 1,160 ไร่ และพื้นที่รับประโยชน์ฝั่งขวา 515 ไร่ หรือคิดเป็นปริมาณน้ำรวม 10.789 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น เพื่อการชลประทาน 2.122 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุปโภค-บริโภค 0.108 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุตสาหกรรม 0.008 ล้าน ลบ.ม. เพื่อปศุสัตว์ 0.020 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ 8.531 ล้าน ลบ.ม.

ที่ผ่านมากรมชลประทานได้ลงพื้นที่ศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อทำการศึกษารายละเอียดและวิเคราะห์สภาพปัญหาของโครงการ โดยดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการ  โดยเฉพาะเรื่องของทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทั้งเชิงกายภาพและเชิงชีวภาพ รวมถึงจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIMP) เพื่อหาข้อสรุปและพิจารณารูปแบบของการพัฒนาที่เหมาะสมและบรรเทาปัญหาอุทกภัยและปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ 

“การพัฒนาโครงการฯ  จะสามารถสร้างประโยชน์ ในพื้นที่ จากโครงการถึง 16,175 ไร่ ทั้งในระดับน้อย ระดับปานกลาง และระดับมาก แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ภายใต้วัตถุประสงค์เดียวกันคือ เพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง” นายสุรชาติฯ กล่าว 













No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages