"วราวุธ" รมว.พม. มอบประกาศนียบัตร
แก่ผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ รุ่นแรก เริ่มปฏิบัติหน้าที่ 1 มิ.ย. นี้
วันที่ 27 พ.ค. 67 ที่กระทรวง พม. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานพิธีมอบประกาศนียบัตรหลักสูตรผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ แก่ผู้สำเร็จการอบรม จำนวน 35 คน พร้อมทั้งมอบนโยบายสร้างระบบการดูแลและส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ รองรับวิกฤตประชากรประเทศไทย โดยมี นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวรายงาน โดยนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ที่ปรึกษา รมว.พม. นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เลขานุการ รมว.พม. ศาสตราจารย์ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบาย รมว.พม. คณะผู้บริหารกระทรวง พม. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
นายวราวุธ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตประชากร โดยปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด ในปี พ.ศ. 2576 เนื่องจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับอัตราการเกิดใหม่ของประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานที่ลดลง ทั้งนี้ กระทรวง พม. จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบคุ้มครองผู้สูงอายุในชุมชน ภายใต้ “โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน” ด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ บูรณาการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในชุมชน เพื่อปกป้อง คุ้มครอง พิทักษ์สิทธิ และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ครอบคลุม ทั้ง 5 มิติ ได้แก่ มิติด้านสังคม สุขภาพ เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม และเทคโนโลยี เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตให้กับผู้สูงอายุ
นายวราวุธ กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชนในปี 2567 มีเป้าหมายในพื้นที่นำร่อง 19 พื้นที่ จาก 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พิษณุโลก สุพรรณบุรี นครปฐม ลพบุรี สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา สกลนคร อุบลราชธานี สงขลา และปัตตานี กระทรวง พม. โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ได้ดำเนินการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ระยะเวลา 240 ชั่วโมง โดยมีผู้สำเร็จการอบรมที่มีความตั้งใจมุ่งมั่น เสียสละ อดทน และเป็นลูกหลานของคนในชุมชน จำนวน 35 คน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามเป้าหมายสำคัญในการปกป้อง คุ้มครอง ดูแล และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ร่วมกับภาคีเครือข่ายในชุมชน โดยจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป นอกจากนี้ สำหรับแผนการขับเคลื่อนในปี 2568 กระทรวง พม. จะขยายผลโครงการให้ครอบคลุมการดูแลผู้สูงอายุทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายการดำเนินงาน จำนวน 152 พื้นที่ ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ และมีผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ จำนวน 304 คน ซึ่งจะทำให้มีผู้สูงอายุได้รับการดูแลและคุ้มครองทางสังคม จำนวน 247,760 คน และในแผนระยะยาว 4 ปี จะผลักดันให้เกิดระบบการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุด้วยผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ รองรับการดูแลผู้สูงอายุทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายการดำเนินงาน จำนวน 75,032 พื้นที่ 76 จังหวัดทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ และมีผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ จำนวน 150,064 คน โดยมีผู้สูงอายุได้รับการดูแลและคุ้มครองทางสังคม จำนวนทั้งสิ้น 4,501,920 คน ซึ่งจากจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมดทั่วประเทศในอนาคตคาดว่าจะมีถึง 16 ล้านคน แต่เชื่อว่าการทำงานของนักบริบาล จะทำให้ผู้สูงอายุมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทั้งกายและใจ ครอบคลุมมิติสาธารณสุข รวมถึงการป้องกันไม่ให้ถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติหน้าที่ของนักบริบาลนั้นไม่ได้เป็นอาสาสมัคร แต่ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 10,000 บาท ขณะเดียวกันจะเป็นการช่วยลดภาระงบประมาณของภาครัฐที่ใช้ในการดูแลผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวง พม. มีความยินดีกับทั้ง 35 คน ที่ผ่านหลักสูตรผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ ในปี 2567 ซึ่งเป็น 35 คนแรกของโครงการที่กระทรวง พม. ตามกรอบนโยบาย 5 × 5 ฝ่าวิกฤตประชากร ไม่ใช่เป็นเพียงการผู้ดูแลมิติใดมิติหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ แต่ผู้ดูแลในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคม สุขภาพ และสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ให้ครบทุกมิติของผู้สูงอายุ ดังนั้นการดูแลผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะมาแก้ไขปัญหา แบ่งเบาภาระคนรุ่นใหม่ในการดูแลบุพการี และทำให้สังคมไทยมีประชากรเพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญโครงการนี้เราได้เริ่มต้นเมื่อเดือนธันวาคม 2566 จนถึงวันนี้ได้ออกมาเป็นรูปธรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของกระทรวง พม. และจากนี้ไปจะมีนโยบายที่ทำสำเร็จและเป็นรูปธรรมให้เห็นเป็นที่ประจักษ์
No comments:
Post a Comment