“พลิกโฉมคุณภาพการศึกษาโดยพัฒนาครูให้มีศักยภาพสอดคล้องกับศตวรรษที่ 21”
วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม 2567
ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า 90 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอ่างทอง
ในระหว่างวันที่ 20-21 กรกฎาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้จัดโครงการพัฒนาครูต้นแบบในเขตภาคกลาง เพื่อ “พลิกโฉมคุณภาพการศึกษาโดยพัฒนาครูให้มีศักยภาพสอดคล้องกับศตวรรษที่ 21” ในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบไปสู่การสร้างผู้เรียนให้เป็นนวัตกร อันเป็นกิจกรรมสำคัญของการอบรมครูตามโครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาด้วยรูปแบบ Active Learning สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ) ระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา ที่จุดอบรม สพป.อ่างทอง โรงเรียนสตรีอ่างทอง และโรงเรียนวิเศษไชยชาญ(ตันติวิทยาภูมิ) ทั้งนี้มีครูเข้ารับการอบรมรวมทั้งสิ้น 451 คน เพื่อสร้างต้นแบบในพื้นที่ภาคกลาง 7 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี ลพบุรี อ่างทอง สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา
ในการอบรมครั้งนี้ นายธีรศักดิ์ จำนงค์เนียร รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษายะลา ปฏิบัติราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอ่างทอง ได้เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า 90 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอ่างทอง และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ แอปพลิเคชัน Zoom Cloud Meetings ไปยังจุดอบรมต่าง ๆ ข้างต้น โดยกล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เห็นความสำคัญของการพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ได้อย่างเป็นรูปธรรม ในทุก ๆ ห้องเรียน ด้วยการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษาโดยพัฒนาครูให้มีศักยภาพสอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จึงมีเป้าหมายสำคัญให้เกิดการปฏิรูปการเรียนรู้ระดับห้องเรียน ให้ครูเปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่การสร้างและพัฒนาผู้เรียน ให้เป็นนวัตกร ที่นำไปสู่การเพิ่มพูนมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Soft Power) ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล จึงขอให้ผู้เข้ารับการอบรมทุกท่านได้ให้ความสนใจในสาระสำคัญและเทคนิคกระบวนการ ให้ความสำคัญกับการลงมือปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง ให้มีทักษะอย่างเพียงพอที่จะไปผลักดันการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ระดับห้องเรียนในการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ที่สามารถประเมินตามสภาพจริงโดยใช้เกณฑ์มิติคุณภาพ (Rubrics) เพื่อตอบโจทย์หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ที่เป็นหลักสูตรอิงมาตรฐาน และสอดคล้องกับมาตรฐานสากลในศตวรรษที่ 21 สะท้อนให้เห็นถึงระดับคุณภาพและร่องรอยการพัฒนาของผู้เรียนได้อย่างเป็นรูปธรรม ให้ตอบสนองนโยบายสำคัญของรัฐบาล ซึ่งหากทำได้สำเร็จ ก็จะเป็นการพัฒนานวัตกรรมการสอนของครูให้ส่งผลถึงการสร้างนวัตกรรมของนักเรียน สร้างคุณค่าคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติในการยกระดับพลิกโฉมคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้น และเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของชาติในระยะยาว
No comments:
Post a Comment