Jus รอง อสส.ปิดหลักสูตร ปอพ.3 ย้ำต้องช่วย ประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรมรวดเร็ว
‘จุมพล’รอง อสส.ปิดหลักสูตร ปอพ.3 ย้ำต้องช่วย ประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรมรวดเร็ว ชี้ คดีความคือ โรคอย่างหนึ่งที่ต้องได้รับการรักษา
เมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมา โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ นายจุมพล พันธุ์สัมฤทธิ์ รองอัยการสูงสุด เป็นประธานในพิธีฝ่ายสำนักงานอัยการสูงสุด และ ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา เป็นประธานในพิธีฝ่ายแพทยสภา ร่วมจัดพิธีปิดหลักสูตร ผู้เชี่ยวชาญการดำเนินคดีทางการแพทย์ รุ่นที่ 3 (ปอพ.3)
ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา |
มีนายโกวิท ศรีไพโรจน์ อธิบดีอัยการ สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ ,พล.อ.ท.นพ. อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ,ดร.สนธยา เครือเวทย์ รองอธิบดีอัยการ สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ ,นายวีระชาติ ศรีบุญมา ผู้อำนวยการสถาบันฝึกอบรมการดำเนินคดีชั้นสูง และนายทีปกร โกมลพันธ์พร อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เข้าร่วมพิธี
โดยก่อนเริ่มพิธีปิดการอบรม จะมีการนำเสนอผลงานวิชาการของผู้เข้ารับการอบรม ซึ่งนายจุมพล รองอัยการสูงสุด และ ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี นายกแพทยสภา ได้ร่วมสังเกตการณ์ด้วย
ซึ่งในแต่ละกลุ่มจะมีการนำเสนอผลงานวิชาการภายใต้เงื่อนไข คือ จะต้องเกี่ยวข้องกับประเด็นทางกฎหมายและประเด็นทางการแพทย์ มีหัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่ หัวข้อปัญหาการนำเทคโนโลยีการสื่อสารออนไลน์เข้ามาช่วยในการดูแลรักษาและส่งเสริมสุขภาพ โดยกลุ่มอัยการนิเทศ หัวข้อบทบาทของหลักฐานทางการแพทย์ในกรณีการเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน โดยกลุ่มตรีศูล หัวข้อการเขียนใบรับรองแพทย์อย่างไร ไม่ต้องไปศาล โดยกลุ่มยกกระบัตร หัวข้อการยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมาย โดยกลุ่มทนายแผ่นดิน และหัวข้อภาวะโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุกับความสามารถในการทำนิติกรรม โดยกลุ่มนาคราช
ส่วนพิธีปิดหลักสูตร โดย นายจุมพล รองอัยการสูงสุด ได้กล่าวถึงความสำเร็จของหลักสูตรซึ่งจะสร้างความเข้าใจ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างหน่วยงาน โดยฝ่ายกฎหมายจะมีความเข้าใจในการทำงานของแพทย์ และทางการแพทย์ก็จะได้รับความรู้ทางกฎหมายเพิ่มขึ้นเพื่อที่จะได้นำไปปรับใช้กับหน่วยงานของตน
โดยนายจุมพล ยังได้ฝากผู้เข้ารับการอบรมทุกท่านให้ช่วยเหลือประชาชนผู้เป็นคดีความให้ได้รับความเป็นธรรมอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่อง เพราะการเป็นคดีความก็เสมือนเป็นโรคร้ายอย่างหนึ่งที่ต้องได้รับการรักษา จากนั้น ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี นายกแพทยสภา ได้กล่าวขอบคุณสำนักงานอัยการสูงสุดถึงความร่วมมือในการจัดหลักสูตร ผู้เชี่ยวชาญการดำเนินคดีทางการแพทย์ ซึ่งได้ร่วมกันดำเนินการจัดหลักสูตรมาแล้วสามปี สามรุ่น สามารถสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญการดำเนินคดีทางการแพทย์ทั้งผู้เข้ารับการอบรมและคณาจารย์ต่าง ๆ กว่า 200 คน และในอนาคตก็เชื่อว่าจะมีการจัดอบรมหลักสูตรนี้ต่อไป ซึ่งในระยะยาวจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ หลักสูตร ผู้เชี่ยวชาญการดำเนินคดีทางการแพทย์ รุ่นที่ 3 (ปอพ.3) ถือได้ว่าเป็นหลักสูตรต้น ๆ ของประเทศไทยที่ศึกษาแบบเจาะลึกเกี่ยวกับประเด็นข้อกฎหมายทางการแพทย์ โดยมีผู้เข้ารับการอบรมจากสำนักงานอัยการสูงสุด จำนวน 41 คน และบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลต่าง ๆ จำนวน 24 คน อาทิ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วรวรรธน์ ลิ้มทองกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แพทย์หญิงอารยา บุญยะลีพรรณ ผู้อำนวยการด้านสันติวิธี โรงพยาบาลราชวิถี นายแพทย์กฤษณ์ แก้วโรจน์ รองหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นต้น รวมทั้งสิ้น 65 คน มีสถาบันฝึกอบรมการดำเนินคดีชั้นสูงเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักสูตร โดยนายวีระชาติ ศรีบุญมา ผู้อำนวยการสถาบันฝึกอบรมการดำเนินคดีชั้นสูง เป็นผู้อำนวยการหลักสูตร และนายทีปกร โกมลพันธ์พร อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นกรรมการหลักสูตร ร่วมกับ พลอากาศโท นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา และผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ต่อพล วัฒนา เป็นกรรมการหลักสูตรฝ่ายแพทยสภา
No comments:
Post a Comment