เครือข่ายหาบเร่แผงลอย ผนึกหลายหน่วยงาน ถกทางรอดผู้ค้าริมทางรวมถึงย่านค้าเก่าแก่ ชี้สะพานพุทธ-โบ๊เบ๊คือหัวใจเศรษฐกิจ นักท่องเที่ยวต่างชาติยังถามหา หวั่นกฎใหม่ กทม.ทำวิถีค้าขายสูญหาย วอนทบทวนเงื่อนไขก่อน Set Zero ต้นปี 68
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 โครงการพัฒนาสุขภาวะผู้ค้าหาบเร่แผงลอย กรุงเทพมหานคร ภายใต้ความร่วมมือของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดโครงการเสวนาวิชาการสาธารณะ “ชีวิตของผู้ค้าอยู่ตรงไหน ภายใต้หลักเกณฑ์ฯ พื้นที่ทำการค้าและการขายฯ ใหม่” เพื่อหาทางออกร่วมกันระหว่างภาครัฐและผู้ค้า พร้อมเสนอแนวทางพัฒนาที่สมดุล ณ โรงแรมเดอะ พาลาซโซ่ กรุงเทพฯ
ดร.กิ่งกาญจน์ จงสุขไกล รองผู้อำนวยการด้านการบริหารและแผนยุทธศาสตร์ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดการเสวนาว่า หาบเร่แผงลอยเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและการเติบโตของเมือง เป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งรายได้ของคนจำนวนมากและยังเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจฐานรากนอกจากนี้ยังสร้างชีวิตชีวา ถือเป็นอัตลักษณ์ของกรุงเทพฯ การเสวนาครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่ทุกคนจะได้รับฟังและแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องการค้าหาบเร่แผงลอยจากผู้ทรงคุณวุฒิหลายด้าน และหวังว่าเวทีนี้จะเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนที่สร้างสรรค์และสามารถนำไปสู่แนวทางการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน เพื่อประโยชน์ของทุกภาคส่วนในสังคมร่วมกัน
ดร. วรชล ถาวรพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กล่าวถึงการนำเสนอ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายฯ ปี 2567 ว่า กรุงเทพมหานครได้ประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2567 หลังจากลงนามจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นการ Set Zero ใหม่ทั้งหมด โดยเงื่อนไขใหม่จะเน้นควบคุมพื้นที่ร้านค้าให้วางแผงลอยตามขนาดที่กำหนดไว้และต้องเว้นทางให้คนเดิน 2 เมตรส่วนคุณสมบัติของผู้ค้าจะถูกคัดเลือกจากผู้ค้าเดิมที่เคยลงทะเบียนไว้ มีสัญชาติไทย รายได้น้อย โดยอ้างอิงจากฐานการเสียภาษี หากมีรายได้เกิน 300,000 บาท/ปี ถือว่าสิทธิ์ขาด หรือถ้าไม่ยื่นเสียภาษีถือว่าสิทธิ์ขาดโดยเจตนาเช่นกัน นอกจากนี้การกำหนดพื้นที่ขายของหาบเร่ในศูนย์อาหาร Hawker Center ผู้ค้าจะได้พื้นที่เช่าราคาถูก สามารถแก้ไขปัญหาด้านสังคมและข้อกฎหมายได้ การมีผู้ค้าหาบเร่แผงลอยตามที่สาธารณะเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานาน เพราะมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ผู้ไม่เห็นด้วยมองว่าผู้ค้ารบกวนการสัญจรของประชาชน ทำให้เกิดความสกปรก ส่วนฝ่ายที่เห็นด้วยมองว่าผู้ค้าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต และช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสินค้าราคาถูก ดังนั้นเราพยายามจะหาจุดสมดุลที่เป็นไปได้สำหรับทุกฝ่าย ผ่านการหารือในงานเสวนาครั้งนี้
รศ.ดร.เรวดี จงสุวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการของอาหารริมบาทวิถี หัวหน้าโครงการวิจัย เรื่อง การจัดการด้านโภชนาการและสิ่งแวดล้อมของอาหารริมบาทวิถีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า Street Food ของไทยขึ้นชื่อติดอันดับโลก แต่คนที่ทานประจำคือคนไทย จากข้อมูลวิจัย พบว่า คนที่อายุน้อยและรายได้น้อย เช่น นักศึกษา ทานอาหารริมทางทุกวัน และส่วนใหญ่ 38% จะมีภาวะอ้วน จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดในระยะแรก 50% อาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ ในระยะที่ 2 จึงชวนผู้ประกอบการหาบเร่แผงลอยใช้วัตถุดิบปรุงอาหารให้มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น ส่วนของความไม่ปลอดภัยของอาหารต้องไปหาจุดวิกฤตที่สุ่มเสี่ยงเกิดเชื้อโรคและแนะนำกรรมวิธีในการลดความเสี่ยงให้ผู้ค้า พร้อมเสนอให้มีการตรวจสุขภาพของผู้ค้าด้วย
ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมือง กล่าวว่า ปัญหาสิทธิการใช้พื้นที่เมืองสะท้อนความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการพื้นที่ทำมาหากิน กับกลุ่มผู้มีฐานะที่ต้องการพื้นที่สาธารณะที่สวยงาม กฎควบคุมแผงลอยใหม่ยังคงมีอคติและเน้นการควบคุมมากกว่าการพัฒนา ควรพิจารณาโมเดล Hawker Center ของสิงคโปร์ที่มองหาบเร่แผงลอยเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาเมือง เน้นการอยู่ร่วมกันระหว่างผู้ค้าและชุมชน พร้อมลงทุนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและสุขาภิบาล แทนการมุ่งควบคุมและจำกัดโอกาสการเติบโตของผู้มีรายได้น้อย
นางพูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำคือต้องพัฒนาหาบเร่แผงลอยให้ดีขึ้น และปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อการประกอบอาชีพ รวมถึงการกระจายอำนาจการบริหารจัดการสู่ท้องถิ่น ที่ผ่านมาผู้ค้าเจอวิกฤตหนักตั้งแต่ช่วงโควิด -19 ส่งผลให้ยอดขายลดลง 50 - 75% ต้องหายืมเงินจนเป็นหนี้นอกระบบดังนั้นการมีงานทำของคนกลุ่มนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก อยากให้ฝ่ายปกครองหันมาแก้ปัญหาให้ตรงจุด อย่าเน้นการพัฒนาที่กระจุกในเมือง ควรสร้างโอกาสในการจ้างงานในท้องถิ่นด้วย
ดร. บวร ทรัพย์สิงห์ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความท้าทายของ “การค้าหาบเร่แผงลอย กรุงเทพมหานคร” ว่า การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯ กำลังเผชิญความท้าทายสำคัญ 5 ประการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทั้งผู้ค้า เจ้าหน้าที่รัฐ และผู้บริโภค ประการแรก คือ การลดลงของจุดผ่อนผันและจำนวนผู้ค้า โดยในช่วง 99 วันที่ผ่านมา มีการดำเนินนโยบายยกเลิกแผงลอยในจุดผ่อนผัน 95 จุด (6,048 ราย) นอกจุดผ่อนผัน 544 จุด (13,210ราย) และถ้าย้อนไป 1 ปี ที่ผ่านมา พบว่าจุดผ่อนผันลดลงถึง 86 จุด (4,541 ราย) นอกจุดผ่อนผัน 544 จุด (13,210 ราย) โดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ เช่น โบ๊เบ๊ สีลม สยามสแควร์ บางนา และทองหล่อ ซึ่งได้รับการจัดระเบียบอย่างเข้มงวด 2. เกี่ยวกับรูปแบบพื้นที่ค้าขายของกรุงเทพฯ โดยผู้ค้าพยายามปรับตัวจากพื้นที่ที่มีความมั่นคงน้อยไปสู่พื้นที่ที่มีความมั่นคงมากขึ้น3.การประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ในปี 2567 ซึ่งมีข้อกำหนดสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องขนาดพื้นที่ 4. ความท้าทายในการบริหารจัดการ ทั้งในด้านการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ค้า การจัดสรรพื้นที่ การควบคุมราคาและคุณภาพสินค้า รวมถึงความพร้อมของเจ้าหน้าที่เทศกิจในการดำเนินการภายในกรอบเวลาที่กำหนด
และ5.เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงด้านอื่นๆ อาทิ โอกาสในการประกอบอาชีพของธุรกิจขนาดเล็กในเมือง การเข้าถึงแหล่งทุนและความรู้ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงประเด็นด้านสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ค้า ดังนั้นหลักเกณฑ์ใหม่ของ กทม. แม้มีจุดแข็งในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย แต่ความเข้มงวดเกินไปในการกำหนดเขตพื้นที่และคุณสมบัติผู้ค้า อาจทำให้ผู้ค้าในจุดผ่อนผันเดิมเสี่ยงที่จะสูญเสียอาชีพ พร้อมเสนอให้ทุกภาคส่วนและผู้ค้าร่วมพัฒนาหลักเกณฑ์ให้สามารถปฏิบัติได้จริง
ในช่วงเปิดรับฟังความคิดเห็น ผู้เข้าร่วมได้มีข้อเสนอดังนี้ 1. เสนอให้ใช้ตลาดสะพานพุทธเป็นพื้นที่นำร่องตามระเบียบใหม่ เนื่องจากมีความเหมาะสมทั้งด้านขนาดพื้นที่ที่กว้างขวาง และเป็นตลาดกลางคืนที่ไม่กีดขวางการจราจร ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ 2. อยากให้ใช้แผนการพัฒนาสุขาภิบาลอาหาร เพื่อยกระดับมาตรฐานความสะอาดของอาหาร และใช้เป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาการค้าอาหารริมทางในอนาคต และ3. ผู้ค้าตลาดโบ๊เบ๊ยังคงได้รับคำถามจากนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงแหล่งซื้อสินค้าที่ระลึกบริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษม แต่ไม่สามารถแนะนำได้ เนื่องจากการยกเลิกพื้นที่ค้าขาย จึงมีข้อเสนอให้พิจารณาฟื้นฟูพื้นที่การค้าแห่งนี้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในย่านการค้าที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นของกรุงเทพฯ
No comments:
Post a Comment