ครูทุกสังกัดตื่นตัวอบรมการเรียนรู้รูปแบบ Active Learning ก้าวเข้าสู่มาตรฐานสากลสอดคล้องกับการพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะเพื่อเป็นพลเมืองในยุคประเทศไทย 4.0
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2567 ที่ หอประชุมรักตะกนิษฐ์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เขตดุสิต กทม.สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.)ได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับโรงเรียนในทุกสังกัด หัวข้อเรื่อง “การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน (Competency) ผ่านนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ร่วมกับแนวคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps โดยเน้นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ สร้างความรู้ ใช้ความรู้ผลิตผลงาน และสร้างนวัตกรรมที่นำ ไปสู่การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและสมรรถนะของผู้เรียนให้สูงขึ้น บรรลุเป้าหมายของหลักสูตรอิงมาตรฐาน และการพัฒนาสถานศึกษาให้ก้าวเข้าสู่มาตรฐานสากลสอดคล้องกับการพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะเพื่อเป็นพลเมืองในยุคประเทศไทย 4.0 ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการการจัดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ตรงตามจุดเน้นของการศึกษาในปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นให้ครูนำความรู้ความสามารถไปพัฒนาสร้างเสริมคุณภาพการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีครูทุกสังกัดเข้าร่วมอบรม กว่า 400 คน บรรยายพิเศษ โดย ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ประธานกรรมการบริหาร พว.
ดร.ศักดิ์สิน กล่าวว่า หลักสูตรคือแผนการจัดเพื่อให้ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ได้เอง ซึ่งการเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้นั้นจะมีทั้งเรื่องของมาตรฐาน สมรรถนะ กระบวนการ รวมถึงคุณภาพในมิติต่าง ๆ ด้วย ฉะนั้นถ้าเราไม่สามารถก้าวข้ามความเข้าใจในการปรับหลักสูตร คือ การปรับเนื้อหา ประเทศไทยก็จะติดกับดักและเดินต่อไปไม่ได้ ดังนั้นเราต้องมาทำความเข้าใจร่วมกันว่า การปฏิรูปการศึกษาแท้จริงแล้วคืออะไรกันแน่ เพราะหัวใจสำคัญที่สุดของกระบวนการปฏิรูปการเรียนรู้ คือ การเพิ่มคุณภาพผู้เรียน ด้วยวิธีการ เป็นการเรียนวิธีเรียนรู้ สอนวิธีเรียนรู้ ไม่ได้สอนเฉพาะเนื้อหาแบบแยกส่วน แต่สอนกระบวนการที่ไม่ยึดติดกับเนื้อหา เป็นรูปแบบการเรียนรู้แนวใหม่ ที่เรียกว่า Active Learning ซึ่งเป็นการพัฒนาความสามารถในการแสดงออกของนักเรียนทุกคน แต่ปรากฏว่าการนำหลักสูตรมาใช้ในสภาพจริงเป็นการถ่ายทอดเนื้อหาเท่านั้น เพื่อให้เด็กจำแล้วไปสอบ แต่ความเป็นจริงหลักสูตรต้องการพัฒนาความสามารถในการแสดงออกของนักเรียนในมิติของการคิด การตัดสินใจ การกระทำ และการลงมือปฏิบัติ ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล ให้นักเรียนจัดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิด การตัดสินใจจนไปถึงการนำไปสู่การปฏิบัติจนเป็นนวัตกรรม
“แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาได้กำหนดไว้เลยว่า เด็กที่จบระดับประถมศึกษาตอนต้น และประถมศึกษาตอนปลาย จะต้องมีความสามารถนำกระบวนการคิดขั้นสูงไปต่อยอดยกระดับอาชีพของพ่อแม่ได้ และเด็กมัธยมศึกษาตอนปลาย ก็จะเป็นการปฏิบัติการเชิงวิจัย เพราะฉะนั้นเนื้อหาทุกเนื้อหาของประเทศไทยที่เรากำหนดไว้ต้องนำไปออกแบบเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ให้เด็ก ได้เรียนรู้ผ่านการคิด การตัดสินใจ และการลงมือทำ ให้เด็กเข้าใจรู้ความหมายเห็นคุณค่าของเนื้อหานั้น ๆ ด้วยตัวของนักเรียนเอง หรือที่เรียกว่าการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในตัวเอง” ดร.ศักดิ์สิน กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม หากเด็กนั่งฟัง นั่งอ่าน นั่งท่องจำ เราไม่เรียกว่าความรู้ แต่จะเรียกว่าความจำระยะสั้นของมนุษย์แล้วเด็กก็ลืม เพราะไม่ได้เรียนรู้ผ่านการคิด การตัดสินใจ และการลงมือกระทำ เพราะฉะนั้นความเป็นสากลในขณะนี้ คือประเทศไทยมีเป้าหมาย มีหลักสูตรที่เป็นสากลอยู่แล้ว แต่ปรากฏว่าบางโรงเรียนไม่เคยบรรลุแม้แต่มาตรฐานเดียว ซึ่งเราดูได้จากการแสดงออกของเด็ก แต่ถ้าเด็กได้เรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning เด็กจะคิดก่อนปฏิบัติ จะเขียน จะอ่าน ในสิ่งที่ตนเองคิด ก็จะเข้าใจและรู้ความหมายของผลการคิด ผลการปฎิบัติได้อย่างลึกซึ้ง และจะสามารถสร้างนวัตกรรมได้อีกมากมาย ดังนั้นเราจึงสามารถพูดได้ว่า Active Learning คือการพัฒนามนุษย์ทุกมิติและทุกด้าน และวันนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ครูได้ตื่นตัวในเรื่องเหล่านี้ เพราะเป็นประโยชน์กับนักเรียนได้ถึงปีละ 10 ล้านคน ถ้าเราพัฒนาให้เขาเกิดปัญญาเมื่อไหร่ เราก็จะได้เด็กไทยที่เก่งและสามารถพัฒนาตัวเองได้เร็ว จะเห็นได้จากการอบรมพัฒนาครูระดับภาคกลางภายใน5เดือน เด็กสามารถสร้างนวัตกรรมได้กว่า 1,200 นวัตกรรม และเชื่อว่าการอบรมครูวันนี้ คุณครูจะเข้าใจวิธีการที่จะทำให้เด็กได้ประโยชน์และมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี
No comments:
Post a Comment