ทิพยประกันภัย สานต่อแนวคิดจิตอาสา พาเรียนรู้วิถีพอเพียง ร่วมดำนาในผืนนาประวัติศาสตร์ ณ ศูนย์ต้นแบบเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) จ.อ่างทอง - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Wednesday, 11 December 2024

ทิพยประกันภัย สานต่อแนวคิดจิตอาสา พาเรียนรู้วิถีพอเพียง ร่วมดำนาในผืนนาประวัติศาสตร์ ณ ศูนย์ต้นแบบเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) จ.อ่างทอง

ทิพยประกันภัย สานต่อแนวคิดจิตอาสา พาเรียนรู้วิถีพอเพียง ร่วมดำนาในผืนนาประวัติศาสตร์ ณ ศูนย์ต้นแบบเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) จ.อ่างทอง

บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) จัดโครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 46 นำคณะครูอาจารย์และผู้สนใจเยี่ยมชม "ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย" ตำบลบ้านแห จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบที่แสดงให้เห็นถึงการน้อมนำแนวพระราชดำริด้านจิตอาสาและเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน

ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เป็นโครงการที่เกิดจากน้ำพระทัยของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ที่มีต่อชาวจังหวัดอ่างทอง เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2549 ที่สร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่เกษตรกว่า 2,161 ไร่ และบ้านเรือนกว่า 650 หลังคาเรือนในจังหวัดอ่างทอง มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐได้จัดทำโครงการต้นแบบฟื้นฟูผู้ประสบภัยตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และลดรายจ่ายให้แก่ประชาชนในพื้นที่

นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการน้อมนำแนวพระราชดำริมาปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในด้านจิตอาสาและการพัฒนาที่ยั่งยืน การได้มาเรียนรู้จากโครงการแห่งนี้จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจถึงความสำคัญของการมีจิตสาธารณะ และการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน"

ในการลงพื้นที่ศึกษาดูงานครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย โดยได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์จาก คุณนงนุช คำคง หรือ "แม่จอย" คนต้นแบบเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก ผู้ซึ่งได้น้อมนำหลักการ "ชี้นำให้คิด สาธิตให้รู้ เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง ละทิ้งนิสัยดั่งเดิม เริ่มหนึ่งที่ตนเอง" มาประยุกต์ใช้จนประสบความสำเร็จ

ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้เยี่ยมชมพื้นที่สาธิตการทำเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมร่วมกิจกรรมดำนาในผืนนาประวัติศาสตร์ที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงเคยลงดำนาเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ชาวบ้าน โดยผลผลิตจากนาผืนนี้ได้นำไปแจกจ่ายให้ประชาชนที่เดือดร้อนและเป็นแหล่งอาหารของคนในพื้นที่

นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยหลักการพึ่งพาตนเองผ่านกิจกรรมเพาะเห็ดฟางและการทำน้ำยาอเนกประสงค์ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้และถ่ายทอดสู่ชุมชน โดยทั้งสองกิจกรรมนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ได้เคยทรงทดลองปฏิบัติด้วยพระองค์เองเมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้

ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ยังได้ร่วมกิจกรรมจิตอาสาและการกุศล ณ วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระอารามแห่งราชวงศ์จักรี เป็นวัดเก่าแก่ที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สร้างขึ้นโดยพระปฐมบรมชนก และในหลวงรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ รวมทั้งพระมหากษัตริย์รัชกาลต่อมาแห่งราชราชวงศ์จักรี ก็ได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดนี้เรื่อยมาในทุกรัชกาล โดยคณะได้ร่วมปล่อยปลาเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล จำนวน 599 กิโลกรัม และร่วมปฏิบัติธรรมเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา อีกด้วย

ทางโครงการฯ ยังได้จัดกิจกรรม Workshop และการบรรยายเกี่ยวกับศาสตร์พระราชา เพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนในทุกมิติ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ รศ.นพ.สุริยเดวทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี และ อาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม ที่ปรึกษาและอดีตนายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย ผู้คิดค้นนวัตกรรมสื่อการสอนสำหรับเยาวชนในศตวรรษที่ 21 หรือ Interactive Board Game หนึ่งเดียวในโลก เพื่อผลักดันให้เกิดนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด และเตรียมความพร้อมประเทศไทยสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในปี 2030

โครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และมูลนิธิธรรมดี โดยได้รับการสนับสนุนหนังสือจากโครงการอมรินทร์อาสาอ่านพลิกชีวิต อมรินทร์กรุ๊ป โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านจะได้รับประกาศนียบัตรจากทางโครงการฯ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นหนึ่งในกิจกรรมการพัฒนาตนเองในการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาจากคุรุสภาได้

สำหรับผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตพอเพียง ณ ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ตำบลบ้านแห จังหวัดอ่างทอง สามารถติดต่อได้ที่ คุณนงนุช (แม่จอย) 087 406 8029

โครงการตามรอยพระราชาครั้งต่อไป ขอเชิญชวนครู-อาจารย์ และผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ระหว่างวันที่ 14 – 15 ธันวาคม 2567 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ คุณจารุกัญญ์ โทรศัพท์ 099 397 5333 FB : ตามรอยพระราชา-The King's Journey 



No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages