ฮอนด้า เผยโฉมโมเดลยนตรกรรมต้นแบบ “Honda 0 Saloon” และ “Honda 0 SUV” เป็นครั้งแรกในโลกที่งาน CES 2025 - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Wednesday, 8 January 2025

ฮอนด้า เผยโฉมโมเดลยนตรกรรมต้นแบบ “Honda 0 Saloon” และ “Honda 0 SUV” เป็นครั้งแรกในโลกที่งาน CES 2025

 ฮอนด้า เผยโฉมโมเดลยนตรกรรมต้นแบบ “Honda 0 Saloon” และ “Honda 0 SUV” เป็นครั้งแรกในโลกที่งาน CES 2025


พร้อมเปิดตัว “ASIMO OS” ระบบปฏิบัติการรถยนต์ที่พัฒนาโดยฮอนด้า ซึ่งติดตั้งใน Honda 0 Series

ฮอนด้า เผยโฉม Honda 0 Saloon และ Honda 0 SUV โมเดลรถต้นแบบภายใต้ “Honda 0 Series (ฮอนด้า ซีโร่ ซีรีส์)” เป็นครั้งแรกในโลก

เปิดตัว “ASIMO OS” ระบบปฏิบัติการรถยนต์ที่พัฒนาโดยฮอนด้า ที่จะได้รับการติดตั้งในยนตรกรรมไฟฟ้า Honda 0 Series ทุกรุ่น

พร้อมการเร่งขยายการใช้งานระบบการขับขี่อัตโนมัติระดับ 3 (แบบละสายตา) ในระดับโลกมากขึ้น โดยเริ่มจาก Honda 0 Series เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกของโลก ที่มอบประสบการณ์ขับขี่แบบละสายตาได้ในทุกสภาวะการขับขี่ เพื่อเปิดความเป็นไปได้ใหม่แห่งการขับเคลื่อน

ฮอนด้า ประกาศในสัญญาข้อตกลงความร่วมมือกับ Renesas Electronics Corporation บริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ ในการพัฒนาระบบชิปบนอุปกรณ์ (SoC) ประสิทธิภาพสูงที่จะนำมาใช้ใน Honda 0 Series และยนตรกรรมฮอนด้ารุ่นอื่น ๆ ที่จะเปิดตัวครึ่งหลังของคริสต์ทศวรรษที่ 2020

พร้อมเร่งนำเสนอโครงการในส่วนของบริการด้านพลังงานที่รวมถึงการเสนอบริการด้านพลังงานใหม่ ผ่านระบบการจัดการพลังงานในบ้าน (Home Energy Management System)

(ลาสเวกัส รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา – 8 มกราคม 2568) ฮอนด้า เผยโฉมโมเดลรถต้นแบบ 2 รุ่น เป็นครั้งแรกในโลกที่งาน CES 2025 ได้แก่ Honda 0 Saloon และ Honda 0 SUV ซึ่งเป็นรถภายใต้ไลน์อัป “Honda 0 Series (ฮอนด้า ซีโร่ ซีรีส์)” ที่จะเปิดตัวสู่ตลาดโลกในปี พ.ศ. 2569 พร้อมทั้งเปิดตัว “ASIMO OS” ระบบปฏิบัติการรถยนต์ที่ฮอนด้าพัฒนาขึ้นเองสำหรับใช้กับรถ Honda 0 Series อีกด้วย

Honda 0 Saloon (ฮอนด้า ซีโร่ ซาลูน)

รถต้นแบบที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดจาก concept model ที่เปิดตัวในงาน CES 2024 เมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อเตรียมเปิดตัวสู่ตลาดโลกในปี พ.ศ. 2569 โดยยังคงไว้ซึ่งดีไซน์เอกลักษณ์ตามแบบฉบับ concept model ที่มาพร้อมตัวถังต่ำสไตล์สปอร์ต พร้อมด้วยภายในห้องโดยสารที่กว้างขวาง

นับเป็น Flagship Model ภายใต้ Honda 0 Series ที่จะได้รับการพัฒนาบนสถาปัตยกรรมใหม่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ อีกทั้งมาพร้อมหลากหลายเทคโนโลยีใหม่ที่ผสานแนวคิด “บาง เบา และชาญฉลาด” เข้าไว้ด้วยกัน

ฮอนด้า จะนำเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติที่เชื่อถือได้สูงบนพื้นฐานของระบบการขับขี่อัตโนมัติระดับ 3 มาติดตั้งเพื่อการใช้งานจริงเป็นครั้งแรกในโลก พร้อมด้วยฟังก์ชัน “ultra-personal optimization” ที่ผู้ใช้รถแต่ละรายจะได้สัมผัสกับประสบการณ์การเดินทางที่ปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับตัวเอง เมื่อทำงานบนระบบปฏิบัติการยานยนต์ “ASIMO OS”

ฮอนด้า จะเริ่มเดินสายการผลิต Honda 0 Saloon ในปี พ.ศ. 2569 โดยเริ่มจากอเมริกาเหนือเป็นที่แรกตามด้วยญี่ปุ่นและยุโรปตามลำดับ

Honda 0 Series | WISE EXPERIENCE

https://youtu.be/MW86NBIXIUw

Honda 0 SUV (ฮอนด้า ซีโร่ เอสยูวี)

ต้นแบบยนตรกรรมไฟฟ้าขนาดกลาง ที่จะเป็นโมเดลแรกภายใต้ Honda 0 Series ซึ่งได้รับการพัฒนาจากโมเดลต้นแบบ Space-Hub ที่เปิดตัวในงาน CES 2024

Honda 0 SUV จะมาพร้อมกับหลากหลายเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สะท้อนแนวคิดการพัฒนา “บาง เบา และชาญฉลาด” เช่นเดียวกับ Honda 0 Saloon โดยจะส่งมอบพื้นที่สุดล้ำ ผ่านฟังก์ชัน “ultra-personal optimization” และประสบการณ์ดิจิทัล เมื่อทำงานบนระบบปฏิบัติการยานยนต์ “ASIMO OS”

นอกจากนี้ Honda 0 Series จะใช้การประมาณค่าความสูงจากพื้น และการควบคุมเสถียรภาพที่มีความแม่นยำสูงโดยอิงจาก 3D Gyro Sensors ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ฮอนด้าสั่งสมผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ของตน เพื่อให้การควบคุมเป็นไปตามความต้องการของผู้ขับขี่ เมื่ออยู่บนพื้นผิวถนนหลากหลายรูปแบบ

โดยฮอนด้าจะเริ่มเดินสายการผลิต Honda 0 SUV ในช่วงครึ่งปีแรกของปี พ.ศ. 2569 โดยเริ่มจากอเมริกาเหนือเป็นที่แรก ตามด้วยญี่ปุ่นและยุโรปตามลำดับ

Honda 0 SUV

https://youtu.be/4sIFhyG6cLc

ระบบปฏิบัติการรถยนต์ ASIMO OS

ยนตรกรรมภายใต้ไลน์อัป Honda 0 Series จะมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการรถยนต์ “ASIMO OS” ที่พัฒนาขึ้นโดยฮอนด้าเอง โดยฮอนด้านำชื่อ ASIMO มาใช้เป็นชื่อระบบปฏิบัติการฯ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำให้ยานยนต์ซีรีส์นี้กลายเป็นไอคอนของยนตรกรรมไฟฟ้ารุ่นต่อไป ที่จะสร้างความประหลาดใจ และมอบแรงบันดาลใจแก่ผู้คนทั่วโลก เช่นเดียวกับที่ ASIMO เคยทำมา

นับตั้งแต่การพัฒนา ASIMO ฮอนด้าได้มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยมุ่งที่จะส่งมอบคุณค่าใหม่ของยานพาหนะที่ฟังก์ชันหลักถูกควบคุมการทำงานด้วยซอฟต์แวร์ (SDVs) ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของฮอนด้า ด้วยการผสานเทคโนโลยีหุ่นยนต์เหล่านี้เข้ากับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูงสำหรับ Honda 0 Series

ASIMO OS จะถูกนำไปใช้ในการควบคุมการทำงานร่วมกับหน่วยควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ (ECUs) ในยนตกรรมไฟฟ้า เช่น ระบบขับขี่อัตโนมัติ/ระบบช่วยผู้ขับขี่ขั้นสูง (AD/ADAS) และระบบความบันเทิงในรถยนต์ (IVI)

โดยในทุกครั้งที่มีการอัปเดตซอฟต์แวร์ในรถยนต์อย่างต่อเนื่องผ่านการอัปเดตแบบ OTA (Over-the-Air) แม้หลังจากที่ซื้อรถแล้ว ฟังก์ชันและบริการจะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามความชอบและความต้องการของผู้ใช้งานแต่ละคน ซึ่งฟังก์ชันและบริการที่ได้รับการอัปเดตอย่างต่อเนื่องนี้ จะช่วยตอบโจทย์ในเรื่องของ “พื้นที่” และประสบการณ์ดิจิทัล ที่มอบความสนุกสนานและความสะดวกสบายในทุกการเดินทาง รวมทั้งการควบคุมสมรรถนะการทรงตัวที่เป็นเอกลักษณ์ของฮอนด้า ที่จะทำให้ทุกการขับสนุกสนานยิ่งขึ้น และทำให้ผู้ขับรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับรถ

ทั้งนี้ ฮอนด้า วางแผนที่จะติดตั้ง ASIMO OS ใน Honda 0 SUV และ Honda 0 Saloon และยนตรกรรมรุ่นอื่น ๆ ใน Honda 0 Series

ระบบการขับขี่อัตโนมัติ AD (Automated Driving)

ในปี พ.ศ. 2564 ฮอนด้า เป็นผู้ผลิตยานยนต์รายแรกของโลกที่นำระบบขับขี่อัตโนมัติระดับ 3 มาใช้จริง โดยได้ติดตั้งใน Honda Legend ที่มาพร้อม ฮอนด้า เซนส์ซิ่ง อีลิท (Honda SENSING Elite) ซึ่งรองรับระบบการขับขี่อัตโนมัติระดับ 3 (แบบละสายตาได้) และการขับขี่อัตโนมัติแบบมีเงื่อนไขในพื้นที่จำกัด

ฮอนด้า เชื่อว่าการใช้เทคโนโลยีการขับขี่แบบละสายตาได้อย่างแพร่หลาย จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการทำให้อุบัติเหตุทางท้องถนนเป็นศูนย์ในอนาคตได้ ฮอนด้า จึงพยายามนำเสนอยนตรกรรมขับขี่อัตโนมัติในราคาที่จับต้องได้ให้กับลูกค้าทั่วโลกผ่าน Honda 0 Series

โดยฮอนด้า ได้นำเทคโนโลยี AI ของตนเองที่ผสมผสานเทคโนโลยีการเรียนรู้แบบไร้การควบคุม*1 ของ Helm.ai เข้ากับโมเดลพฤติกรรมของผู้ขับขี่ที่มีประสบการณ์ ซึ่งช่วยให้ AI สามารถเรียนรู้ด้วยข้อมูลจำนวนน้อย และขยายขอบเขตของสถานการณ์ที่การขับขี่อัตโนมัติและการช่วยเหลือผู้ขับขี่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ฮอนด้า จะนำเทคโนโลยี AI ของฮอนด้ามาประยุกต์ใช้กับงานพัฒนา ผ่านการวิจัยเกี่ยวกับผู้คนและการเคลื่อนที่ เพื่อปรับปรุงความแม่นยำของพฤติกรรมการอยู่ร่วมกัน (cooperative behavior) เช่น การให้ทางกับผู้อื่นบนถนน ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอันล้ำสมัยนี้ จะทำให้ฮอนด้าสามารถสร้างระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ที่เชื่อถือได้สูง ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสม เช่น เมื่อมีสัตว์วิ่งเข้าสู่ช่องทาง หรือวัตถุตกลงบนถนน

Honda 0 Series จะได้รับการติดตั้งระบบที่ช่วยขยายขอบเขตความสามารถในการช่วยเหลือผู้ขับขี่ในหลากหลายสภาพการขับขี่ ด้วยระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่และระบบขับขี่อัตโนมัติระดับ 3 โดยจะเริ่มด้วยเทคโนโลยีการขับขี่แบบละสายตา (eyes-off) ที่ใช้ได้ในสภาพการจราจรติดขัดบนทางหลวง และสภาพการจราจรอื่น ๆ จากการอัปเดต OTA ของฟังก์ชันต่าง ๆ

*1 การเรียนรู้แบบไร้การควบคุม (Unsupervised learning) เป็นหนึ่งในวิธีการเรียนรู้ของเครื่องยนต์ที่สนับสนุน AI โดยแตกต่างจากการเรียนรู้แบบมีการควบคุม (supervised learning) ซึ่ง AI เรียนรู้คำตอบที่ถูกต้องจากข้อมูลที่มีป้ายกำกับ การเรียนรู้แบบไร้การควบคุมนั้นอนุญาตให้ AI เรียนรู้โดยไม่ต้องได้รับคำตอบที่ถูกต้องและค้นหาแบบแผนและลักษณะเฉพาะของข้อมูลที่ไม่มีป้ายกำกับด้วยตนเอง

การพัฒนา SoC สำหรับ Honda 0 Series

ในงาน CES 2025 ฮอนด้า และ Renesas Electronics Corporation (Renesas) ได้ประกาศการลงนามในข้อตกลงเพื่อพัฒนาระบบชิปบนอุปกรณ์ (SoC) ประสิทธิภาพสูง เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายด้านยานพาหนะในอนาคตที่ฟังก์ชันหลักถูกควบคุมการทำงานด้วยซอฟต์แวร์ (SDVs) ซึ่งฮอนด้ามุ่งมั่นจะทำให้สำเร็จในไลน์อัป Honda 0 Series

สำหรับยนตรกรรม Honda 0 Series เจเนอเรชันถัดไป ที่จะเปิดตัวในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ทศวรรษที่ 2020 ฮอนด้าจะนำสถาปัตยกรรม E&E แบบ Centralized ซึ่งเป็นการรวม ECU หลายตัวที่รับผิดชอบควบคุมระบบยานพาหนะแต่ละตัวให้เป็นหนึ่ง ECU หลัก ซึ่งทำหน้าที่เสมือนศูนย์กลางของยานพาหนะ (SDV) ในการจัดการระบบต่าง ๆ เช่น AD/ADAS, การควบคุมระบบขับเคลื่อน และฟีเจอร์เพื่อความสะดวกสบายต่าง ๆ ทั้งหมดอยู่ใน ECU เดียว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ECU จึงต้องการระบบชิป (SoC) ที่มีประสิทธิภาพการประมวลผลสูงกว่าระบบทั่วไป ในขณะที่ใช้พลังงานเพิ่มในอัตราที่น้อยที่สุด

เพื่อตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าว ฮอนด้าและ Renesas จะสร้างระบบที่ใช้เทคโนโลยีชิปเล็ตแบบ Multi-Die Chiplet Technology*2  ที่นำชิป Renesas generic รุ่นที่ห้า (Gen 5) R-Car X5 SoC series มาทำงานร่วมกับ AI accelerator ที่ถูกปรับให้เหมาะสมกับซอฟต์แวร์ AI ที่พัฒนาขึ้นโดยฮอนด้า ซึ่งการผสานการทำงานนี้ ทั้งสองบริษัทตั้งเป้าที่จะพัฒนาระบบ AI ชั้นนำของอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพสูงถึง 2,000 TOPS*3 (Sparse) ด้วยประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 20 TOPS ต่อวัตต์ (TOPS/W)

*2   เทคโนโลยีในการสร้างระบบโดยการรวมชิปหลายตัว (dies) ที่มีฟังก์ชันต่างกันเข้าด้วยกัน

*3   Tera Operations Per Second (TOPS) เป็นหน่วยวัดประสิทธิภาพการประมวลผลของ AI และวัดจำนวนปฏิบัติการที่สามารถดำเนินการได้ต่อวินาที โดยอิงตามโมเดล AI แบบกระจาย (sparse AI model)

บริการด้านพลังงาน

เพื่อนำเสนอยนตรกรรมไฟฟ้า Honda 0 Series ที่สามารถส่งมอบความสุขและอิสระในการขับเคลื่อนให้กับผู้คนจำนวนมากโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ฮอนด้า จึงมุ่งมั่นพัฒนาและนำเสนอบริการด้านพลังงานใหม่ ๆ ตาม 2 แนวคิดหลัก ได้แก่ 1) การสร้างเครือข่ายการชาร์จที่ช่วยให้ลูกค้าเพลิดเพลินและมีอิสระในการขับเคลื่อนอย่างไร้กังวล และ 2) การให้ผู้คนสามารถเพลิดเพลินกับชีวิตประจำวันด้วยพลังงานสะอาดโดยใช้แบตเตอรี่ EV 

การจัดตั้งเครือข่ายการชาร์จ

ฮอนด้า มุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมที่ผู้ใช้ Honda 0 Series จะไม่มีปัญหาในการชาร์จรถยนต์ของพวกเขา เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ ในอเมริกาเหนือ ผู้ผลิตรถยนต์ 8 ราย*4 ได้ร่วมกันจัดตั้งกิจการร่วมค้าเพื่อสร้างเครือข่ายการชาร์จที่ชื่อว่า “IONNA” โดยมีเป้าหมายที่จะรวมสถานีชาร์จคุณภาพสูงอย่างน้อย 30,000 แห่งภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งยนตรกรรมไฟฟ้าทุกรุ่นในไลน์อัป Honda 0 Series จะมาพร้อมช่องชาร์จไฟตามมาตรฐานการชาร์จในอเมริกาเหนือ (NACS) โดยฮอนด้าจะเดินหน้าขยายเครือข่ายการชาร์จต่อไปเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ใช้ Honda 0 Series จะสามารถเข้าถึงสถานีชาร์จมากกว่า 100,000 แห่งภายในปี 2573

นอกจากนี้ เพื่อรองรับการเปิดตัวของ Honda 0 Series ฮอนด้า กำลังพิจารณาเพิ่มบริการชาร์จไฟใหม่จากเครือข่ายการชาร์จที่ครอบคลุมนี้ โดยใช้เทคโนโลยีของ Amazon Web Services, Inc. (AWS) เช่น Amazon Bedrock, เทคโนโลยี AI ของ AWS เข้ากับเทคโนโลยี AI ของฮอนด้า และหลังจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับจาก Honda 0 Series และเครือข่ายการชาร์จที่ครอบคลุมมากขึ้นในอนาคต ฮอนด้า จะพยายามส่งมอบประสบการณ์การชาร์จไฟที่ปรับให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลในแง่ของการหาสถานที่ชาร์จและทำให้การชำระเงินเป็นเรื่องง่าย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าฮอนด้าให้มากที่สุด

การทำให้ผู้คนสามารถเพลิดเพลินกับชีวิตประจำวันด้วยพลังงานสะอาด เพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน การใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น นับเป็นสิ่งสำคัญควบคู่กับความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้า

สำหรับการชาร์จไฟฟ้าที่บ้าน ซึ่งคาดว่าจะเป็นประมาณ 80% ของการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด*5 ฮอนด้าจะพัฒนา Honda Smart Charge ซึ่งเป็นบริการชาร์จไฟสำหรับผู้ใช้รถ EV ที่ฮอนด้ากำลังให้บริการในอเมริกาเหนือ โดยการรวมระบบการจัดการพลังงานในบ้านที่พัฒนาร่วมกับ Emporia Corp. เข้ากับระบบ Vehicle Grid Integration (VGI) ของ ChargeScape ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนด้านซอฟต์แวร์ที่ฮอนด้าจัดตั้งขึ้นร่วมกับบีเอ็ม ดับเบิ้ลยู และฟอร์ด และด้วยโครงการที่ฮอนด้าได้ริเริ่มเหล่านี้ คาดว่าจะมีส่วนช่วยลดค่าไฟฟ้าและการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับลูกค้าในอเมริกาเหนือและตลาดอื่น ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2569 เป็นต้นไป

ด้วยบริการด้านพลังงานนี้ หากนำเอายนตรกรรมภายใต้ Honda 0 Series จำนวนหนึ่งมารวมกัน จะสามารถทำหน้าที่เป็นโรงไฟฟ้าเสมือน หรือ VPP ได้ และสามารถปรับแผนการชาร์จได้ตามความต้องการของผู้ใช้งานแต่ละคนได้มากขึ้น โดยเฉพาะยนตรกรรมภายใต้ Honda 0 Series จะชาร์จไฟตัวเองโดยการเลือกช่วงเวลาของวันที่ค่าไฟฟ้าต่ำ และสามารถใช้พลังงานหมุนเวียนได้ และปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในบ้านในช่วงเวลาที่ค่าไฟฟ้าสูง จึงมีส่วนช่วยในการจัดการค่าไฟครัวเรือนทั้งบ้านได้อย่างชาญฉลาด

นอกจากนี้ เมื่อกระแสไฟฟ้าเกิดการขาดแคลน ไฟฟ้าที่เก็บไว้ในรถ Honda 0 Series จะสามารถจ่ายไฟกลับเข้าสู่กริดพลังงานได้ จึงช่วยเสริมเสถียรภาพในระบบการจ่ายไฟฟ้า และช่วยให้เจ้าของรถสามารถสร้างรายได้จากรถยนต์ EV ของพวกเขา ในส่วนของการเสื่อมสภาพของแบตเตอรี่ที่อาจเป็นข้อกังวลจากการชาร์จและปล่อยประจุซ้ำ ๆ ปัญหานี้จะลดลงได้ด้วยเทคโนโลยีการจัดการแบตเตอรี่ที่ฮอนด้าสั่งสมมาจากการพัฒนาระบบขับเคลื่อนฟูลไฮบริด

*4   American Honda Motor, บริษัทในเครือของฮอนด้าในสหรัฐอเมริกา, BMW Group, General Motors, Hyundai Motors, Kia Corporation, Mercedes-Benz Group, Stellantis N.V., Toyota Motor

*5   ผลการวิจัยภายในของ Honda


ลิงก์รับชมการแถลงข่าวของฮอนด้าภายในงาน CES 2025

https://youtube.com/live/3M87dqNbY3U


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages