สสส. ร่วมถอดบทเรียน “มะนังยงโมเดล” หมู่บ้าน CBTx - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Saturday, 8 February 2025

สสส. ร่วมถอดบทเรียน “มะนังยงโมเดล” หมู่บ้าน CBTx

 สสส. ร่วมถอดบทเรียน “มะนังยงโมเดล” หมู่บ้าน CBTx ที่ยึดหลักศาสนบำบัดและสร้างงานสร้างอาชีพ แก้ปัญหายาเสพติดพื้นที่ จ.ปัตตานี คืนความสันติสุขสู่ชุมชน

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ชุมชนมะนังยง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนัก1 (สสส.) ลงพื้นที่ถอดบทเรียนการดำเนินงานขับเคลื่อน “ชุมชนล้อมรักษ์” CBTx ตำบลมะนังยง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตําบลที่มีการแพร่ระบาดของยาเสพติดเป็นอย่างมากเป็นอันดับที่ 3 จากจํานวน 18 ตําบล ของอําเภอยะหริ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มประชาชนช่วงอายุ ตั้งแต่ 15 - 35 ปี ก่อให้เกิดปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยของชุมชนหลายเหตุการณ์ จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหายาเสพติดภายใต้การดำเนินงานใน โครงการครอบครัวสภาประชาธิปไตยแก้ปัญหายาเสพติด (มะนังยงโมเดล) ด้วยกระบวนการชุมชนล้อมรักษ์ CBTx ที่ดำเนินการมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ควบคู่กับหลักศาสนบำบัดตามหลักศาสนาอิสลามขัดเกลาจิตใจ ผ่าน 5 ขั้นตอน ค้นหา คัดแยก บำบัด ติดตามและสร้างอาชีพ ตั้งแต่ปี 2562-2567 มีผู้เข้าสู่กระบวนการบำบัด มะนังยงโมเดล จำนวน 122 คน

นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน เป็นรูปแบบการบําบัดรักษาเชิงบูรณาการโดยเฉพาะต่อผู้ใช้หรือเสพยาเสพติดในชุมชนเพื่อให้เกิดการรักษาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การรักษาในระยะเริ่มต้นจนถึงการบําบัดรักษาฟื้นฟูด้วยระบบการดูแลต่อเนื่องและรวมถึงการติดตามผลการรักษาเพื่อคืนผู้ป่วยสู่สังคม โดยมีการประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งด้านสุขภาพสังคมและการบริการอื่น ๆ ซึ่งมีความพร้อมความมุ่งมั่นตั้งใจ ที่จะช่วยเหลือผู้ใช้ยาเสพติดบนพื้นฐานของความเข้าใจถึงความต้องการของผู้ป่วย ตลอดจนให้การสนับสนุนครอบครัวและชุมชนของผู้ป่วยอย่างจริงจังต่อการแก้ปัญหายาเสพติดเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในระยะยาว

 

“แนวคิด เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วยเริ่มมาเมื่อ 20 ปีที่แล้วในต่างประเทศที่ทำควบคู่กับการปราบปราม        พบผลลัพธ์คือจำนวนผู้ติดยาเสพติดลดลง ขณะเดียวกันไทยเราเองก็ได้ถอดบทเรียนและนำมาสู่การปรับใช้โดยผลักดันเป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้ใช้กลไก พชอ. เป็นแกนหลักในการร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ สำรวจประชาชนในพื้นที่สู่กระบวนการปลายน้ำดึงผู้ที่ใช้ยาเสพติดเข้าสู่การบำบัดรักษา   ซึ่งชุมชนั้นต้องเข้าใจและพร้อมจะช่วยแก้ปัญหาไปด้วยกันถึงจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันในชุมชนอย่างมีความสุข เพราะนอกจากช่วยคนติดยาเสพติดให้หลุดพ้นแล้ว ยังสามารถช่วยครอบครัวผู้ติดยาเสพติด้วย โดยจะนำไปสู่กระบวนการควบคุมปัญหายาเสพติดในสู่ชุมชนได้ระยะยาว ” นพ.มล.สมชาย กล่าว

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อํานวยการสํานักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก (สํานัก 1) สสส. กล่าวว่า กระบวนการของการบําบัดยาเสพติดโดยชุมชนมีส่วนร่วมจะต้องดูบริบทของชุมชนนั้น ๆ เพราะการที่ชุมชนจะสามารถดำเนินการตามแนวทางนี้ให้ประสบความสําเร็จชุมชนต้องมีความเข้มแข็ง เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจกันอย่างแท้จริง ผู้นําชุมชนและคณะกรรมการชุมชนมีความมุ่งมั่นตั้งใจต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด รวมถึงพลังความร่วมมือจากคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอําเภอ (พชอ.) และแรงสนับสนุนจากองค์กรพัฒนาชุมชนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำไปสู่การระดมสมองกำหนดวิธีการและกิจกรรมให้กับผู้เข้ารับการบำบัดอย่างครอบคลุมทุกมติ


“ขอชื่นชม มะนังยงโมเดลค่ะ ที่มีนวัตกรรมพัฒนารูปแบบการใช้ชุมชนเป็นฐานในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจังโดย ซึ่ง สสส. เน้นการป้องกันเป็นหลักพฤติกรรมจากเหล้าบุหรี่ ซึ่งหากสภาพแวดล้อมชุมชนยังพบผู้ใช้สารเสพติดในครอบครัว ชุมชน ก็อาจทำให้มีการใช้สารเสพติดในเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้น เราจึงเข้ามามีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในการขับเคลื่อน CBTx ร่วมกับ พชอ. แก้ไขปัญหายเสพติดและเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งในครอบครัวและชุมชน เปลี่ยนคนหลงทางให้กลับมาอยู่ในสังคมที่พร้อมโอบรับพวกเขา ซึ่งชุมชนไหนสามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ก็จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องเหล้าบุหรี่ได้เช่นกันค่ะ ” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว


นายอาฟีซี ตอเลาะ ปลัดอำเภอยะหริ่ง จ.ปัตตานี กล่าวว่า ขั้นตอนการดำเนินการโดยกระบวนการชุมชนล้อมรักษ์ เราทำมา 5-6 ปี เริ่มต้นจากการค้นหา 3 วิธี ทั้งค้นหาพื้นที่แหล่งมั่วสุม เช่น ในป่าละเมาะและหมูบ้านร้าง ขณะเดียวกันฝ่ายปกครองตั้งด่านตรวจในหมู่บ้านตามถนนสายรองช่วงยามวิกาล และสุดท้ายผู้ปกครองนำลูกหลานเข้าสู่กระบวนการบำบัดด้วยตนเอง จากนั้นจึงมีการคัดกรองเพื่อประเมินการบำบัดฟื้นฟู และนำไปสู่การบันทึกข้อตกลงกับผู้ปกครองของผู้บำบัดที่เข้าร่วมโครงการโดยสมัครใจเป็นระยะเวลา 50 วัน ผ่านคณะกรรมสภาประชาธิปไตยตำบล โดยจะมีการติดตามผลทุก ๆ 5 วันและทำการตรวจปัสสาวะ 10 ครั้ง เมื่อผู้บำบัดได้รับการพิจารณาว่าจิตใจเข้มแข็งและก้าวพ้นจากยาเพสติดอย่างแน่ชัดแล้วจะเข้าสู่ขั้นตอนการอบรมฝึกอาชีพ จากเจ้าหน้าที่โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดปัตตานี


“กระบวนการสร้างอาชีพเป็นกระบวนการที่สำคัญซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดว่าเขาจะเข้าไปสู่วังวนเดิมหรือไม่ เพราะถ้าเขามีงานทำเขาจะเลิกใช้ยาเสพติด ดังนั้นการฝึกอาชีพต้องเป็นการฝึกให้เด็กชำนาญและทำงานได้จริง ซึ่งขณะนี้เปิดฝึกอบรมการเป็นช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ช่างแอร์ โดยมีระยะเวลาการฝึกฝนฝีมือ 3 เดือน และส่วนใหญ่จะได้รับการพิจารณาเข้ารับการทำงานจากผู้ว่าจ้างในพื้นที่ด้วย” นายอาฟีซี กล่าว

 

นายกามารูดิง มูซอ กำนันตำบลมะนังยง อ.ยะหริ่ง จปัตตานี กล่าวว่า หมู่บ้านเราไม่ได้ผลิตยาเสพติดแต่กลับพบว่ามีคนในชุมชนเยาวชนใช้หรือเสพยาเสพติด จึงแก้ปัญหาผ่านแนวคิด “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย เปลี่ยนผู้ป่วยคืนสู่สังคม” ควบคู่กับการใช้หลักศาสนบำบัด ตามหลักศาสนาอิสลามขัดเกลาฟื้นฟูสภาพจิตใจซึ่งพบว่าได้ผลลัพธ์ที่ดีผู้ใช้หรือเสพยาเสพติดเลิกขาด ซึ่งการจะขับเคลื่อนแนวคิดนี้ได้ต้องใช้พลังผู้นำชุมชนและคนในชุมชนสานพลังผ่านมติหมู่บ้านตกลงทำความเข้าใจให้เห็นตรงกันเกี่ยวกับกระบวนการชุมชนล้อมรักษ์ จึงทำให้เราสามารถเดินหน้ามาอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 6 ซึ่งถือเป็นการให้โอกาสที่ยิ่งใหญ่ให้กับเยาวชนและคนในชุมชนที่หลงผิดให้ได้ชีวิตใหม่อีกครั้ง





No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages