"ห่วงสงกรานต์เสี่ยง! นักวิชาการเตือน ผ่อนปรนกฎหมายเหล้า อาจทำอุบัติเหตุ-ความรุนแรงพุ่ง" - Thailand Times

Breaking




Post Top Ad

Monday, 31 March 2025

"ห่วงสงกรานต์เสี่ยง! นักวิชาการเตือน ผ่อนปรนกฎหมายเหล้า อาจทำอุบัติเหตุ-ความรุนแรงพุ่ง"

วงเสวนา ห่วงรัฐแก้กฎหมาย คลายมาตรการควบคุมเหล้า ทำสงกรานต์ปีนี้เสี่ยง คนเมาเต็มถนน อุบัติเหตุ – ความรุนแรงพุ่ง พร้อมเปิดผลสำรวจประชาชน 70% กังวลมาก ขนาดมีการควบคุมช่วงที่ผ่านมา ยังมีปัญหาลวนลาม คุกคามทางเพศสูง ด้าน เหยื่อเมาแล้วขับ ติงรัฐผ่อนคลาย ทำสถานการณ์ไทยกลับสู่อดีตซื้อง่าย ดื่มง่าย  

 

วันที่ 31 มีนาคม 2568 เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ (ครปอ.) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต และ เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน ร่วมกันจัดเสวนา “ตีแผ่นโยบายเพิ่มพื้นที่เมา vs ความเสี่ยงในสงกรานต์ โดยมีนายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ประธานเครือข่ายพลังสังคม ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว อาจาย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ น.ส.จรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และตัวแทนเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ ร่วมเสวนา

นายวิษณุ กล่าวว่า แนวโน้มสงกรานต์ปีนี้น่าจะมีการผ่อนคลายมากขึ้น จากการที่รัฐบาลกำลังปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีหลายมาตรการที่เดินหน้าผ่อนปรนไปแล้ว เพราะเมื่อรัฐบาลส่งสัญญาณมาเช่นนี้ หน่วยงานต่างๆ ก็พร้อมที่จะผ่อนคลาย โดยเฉพาะภาคเอกชน คาดว่าปีนี้น่าจะมีการจัดกิจกรรมมีคอนเสิร์ตที่เป็นแหล่งผลิตคนเมาลงสู่ท้องถนนจำนวนมากทั่วประเทศ เกิดความรุนแรงในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์มากขึ้น อย่างไรก็ตามจากการพูดคุยหลายหน่วยงาน หลายพื้นที่ยังโชคดีที่เขายังคงยืนหยัดในการจัดงานสงกรานต์ปลอดเหล้าต่อไป แม้ว่ารัฐบาลจะส่งสัญญาณหรือปล่อย ให้มีการผ่อนคลายมากขึ้น


“ทั้งนี้ สอดคล้องกับผลสำรวจของเครือข่ายพลังสังคมเมื่อปี 2567 กว่า 1,000 ชุด ใน 20 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า 80.80% เห็นว่า จำเป็นต้องจัดงานปลอดเหล้า 81.10% เห็นว่า ควรทำโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำ และ 91.40% เห็นว่า การจัดงานสงกรานต์ปลอดเหล้าช่วยลดอุบัติเหตุ จากการดื่มแล้วขับได้ 90% เห็นว่า ลดปัญหาการทะเลาะวิวาทได้ และ 87% เห็นว่า ช่วยลดปัญหาการลวนลาม ล่วงละเมิดทางเพศ ขณะเดียวกัน 82.30% การจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดเหล้า ไม่ได้ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง ดังนั้นตนจึงอยากให้หน่วยงานจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ โดยคงมาตรการแบบเดิมเอาไว้ เพราะหากปล่อยให้มีเรื่องไม่ดีออกไปก็จะส่งผลกระทบต่อมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้   ของประเพณีสงกรานต์ที่เราเพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนไป นอกจากนี้ เห็นว่าควรนำตัวอย่างการจัดสงกรานต์ที่สีลมเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมีการจัดช่องทางพิเศษเอาไว้สำหรับ รถพยาบาลหรือรถฉุกเฉิน เอาไว้ด้วย รวมถึงมีมาตรการให้ภาคเอกชนร่วมรับผิดชอบ กรณีหากมีเหตุอันตรายเกิดขึ้นจากคนเมา” นายวิษณุ กล่าว

รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า ท่าทีของภาครัฐที่พยายามลดความเข้มข้นมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งการขายวันพระใหญ่ ขายบนรถไฟและสถานีรถไฟ ทั้งๆ ที่ร่างแก้ไข พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ....ยังไม่ออกมาบังคับใช้ แปลว่ายังข้อบังคับตามกฎหมายเดิมยังมีผลอยู่ แต่ท่าทีของภาครัฐ อาจนำไปสู่การลดระดับความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมายหลังจากนี้โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตามที่รัฐบาลอ้างอิงมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว ‘Amazing Thailand Grand Tourism and Sport Year 2025’ ทั้งๆ ที่ข้อมูลวิชาการทั้งในและต่างประเทศชี้ให้เห็นว่า การผ่อนปรนมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะนี้นำไปสู่ผลกระทบต่อสังคมที่สูงขึ้น เช่น ที่รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียพบว่า โรงแรมที่ขออนุญาตขยายเวลาขายแอลกอฮอล์มีเหตุทำร้ายร่างกายเพิ่มขึ้น 3 เท่าเมื่อเทียบกับโรงแรมที่ไม่ขอขยายเวลาขาย และข้อมูลจากการเพิ่มขายแอลกอฮอล์อีก 1 ชั่วโมง ใน 18 เมืองของนอร์เวย์ สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของการทำร้ายร่างกาย 13-22% ส่วนในไทยพบความสัมพันธ์ระหว่างความหนาแน่นของจุดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นกับการบริโภคแอลกอฮอล์ที่สูงขึ้น


“ดังนั้นจึงอยากให้ภาครัฐไม่ปล่อยปละละเลยความเข้มข้นในการควบคุมการจำหน่ายแอลกอฮอล์ ให้ยังคงเป็นไปตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่อย่างเคร่งครัด ต้องไม่ลืมว่านักท่องเที่ยวจำนวนมากก็ไม่ใช่คนที่ดื่มแอลกอฮอล์ ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวมีความสำคัญไม่แพ้กิจกรรมสันทนาการ และการเกิดเหตุร้ายกับนักท่องเที่ยวอาจนำไปสู่ผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศในวงกว้างได้” รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว

ด้าน น.ส.จรีย์ กล่าวว่า มูลนิธิฯ ได้สำรวจความเห็นกลุ่มตัวอย่าง 2,552 คน ทั่วประเทศ ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา  ถึงข้อกังวลต่อนโยบายผ่อนปรนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของภาครัฐ ช่วงสงกรานต์ พบว่า 70% กังวลต่อนโยบายผ่อนปรนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะกังวลอุบัติเหตุเมาแล้วขับ 28.8% การทะเลาะวิวาทตีกัน 26.1% การลวนลามคุกคามทางเพศ 17.5% พื้นที่เล่นน้ำปลอดภัยลดลง 9.8% ฉะนั้นจึงสนับสนุนให้มีพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น  มีจุดให้ความช่วยเหลือรับแจ้งเหตุที่ชัดเจน เน้นความปลอดภัยกับทุกเพศทุกวัย 27% บังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง 26.5% รณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ ไม่คุกคามทางเพศ 21.4% ไม่ควรมีนโยบายผ่อนปรนการควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 20.1 %


“เรายังพบด้วยว่า ปัญหาคุกคามทางเพศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผู้กระทำส่วนใหญ่ยังมีทัศนคติหรือมีคำกล่าวอ้างว่า เป็นเรื่องธรรมดาของเทศกาลสงกรานต์ ดังนั้นควรมีการรณรงค์และสร้างวาทกรรมใหม่ว่า “ไม่ฉวยโอกาสลวนลาม/คุกคามทางเพศในเทศกาลสงกรานต์” ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือเพศอื่นๆ ก็ไม่ควรถูกกระทำ” น.ส.จรีย์ กล่าว​

ด้านนายธีรภัทร์  กุลพิศาล  ตัวแทนเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ กล่าวว่า เมื่อประมาณปี 2544 ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ในสมัยนั้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถซื้อง่าย ตามปั๊มน้ำมันก็สามารถซื้อได้ซึ่งตนและเพื่อน ได้ขับรถ จากกรุงเทพฯไปยังจังหวัดชัยภูมิ มีการซื้อและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดเส้นทาง เพราะเป็นช่วงเทศกาล จากนั้นขากลับจากชัยภูมิก็เดินทางต่อไปยังพัทยา เรียกว่าเป็นการเดินทางท่องเที่ยวยาวนานคนขับก็พักผ่อนน้อย บวกกับร่วมกันกินดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ตลอด จนกระทั่ง กลับจากพัทยาเข้ามายังกรุงเทพฯ เกิดอุบัติเหตุรถชนกันแถวบางเขน เพื่อนที่เดินทางไปด้วยกันคอหักเสียชีวิตคาที่ ส่วนตนหลังหัก ไม่มีความรู้สึกไปครึ่งตัว ตอนแรกทำใจไม่ได้ พ่อ แม่ ต้องมาดูแลเรา ค่าใช้จ่ายค่อนข้างเยอะ ที่สำคัญคือทำให้พ่อแม่เดิมตั้งความหวังกับเรา ก็รู้สึกหมดหวังลงไป กว่าจะสามารถทำใจได้ก็ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ปัจจุบันก็ยังมีคิดถึงเรื่องนี้บ้าง การใช้ชีวิตอาจจะไม่เหมือนเดิมมีบางอย่างที่เรายังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ มีค่าใช้จ่ายส่วนตัว เช่นค่าผ้าอ้อมผู้ใหญ่ซึ่งเป็นผลกระทบระยะยาวจากอุบัติเหตุครั้งนั้น ดังนั้นในช่วงสงกรานต์นี้ คาดว่าปีนี้จะมีการเฉลิมฉลองกันอย่างมากมาย อยากให้ทุกคนมีจิตสำนึกส่วนบุคคล และนึกถึงคนข้างหลังเวลาจะทำอะไร ให้คิดถึงผลกระทบที่จะตามมาซึ่งค่อนข้างที่จะร้ายแรง ไม่ใช่ผลกระทบที่เกิดกับตัวเราเพียงแค่คนเดียว แต่จะเกิดผลกระทบกับคนใกล้ชิดและผู้อื่นในวงกว้าง ดังนั้นขอให้มีจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนน ถ้าดื่มแอลกอฮอล์ก็ไม่ควรขับรถ


"ตามที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะปลดล็อคเรื่องการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ผมไม่เห็นด้วยเพราะหากมีการปลดล็อค ก็จะย้อนไปสู่สถานการณ์เหมือนที่ผมเป็นในอดีต ไปตรงไหนก็สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างง่ายดาย แต่หากมีการกำกับให้ ซื้อขายได้เป็นช่วงระยะเวลาจะดีกว่า น่าจะช่วยลดผลกระทบได้” นายธีรภัทร์ กล่าว 

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages